04 February 2011
วิกฤตประท้วงอียิปต์ระอุหนัก ชนวนอาหารแพงลามทั่วโลก
เหตุการณ์ การชุมนุมประท้วงทั่วประเทศในอียิปต์ได้สร้างความปั่นป่วนไปทั่ว ผลกระทบที่ปรากฏเกิดขึ้นทั้งในตลาดหุ้นโลกและตลาดคอมโมดิตี้ระหว่างประเทศ
ปัจจัย อียิปต์สร้างแรงส่งให้ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือกำหนดส่งมอบเดือนมีนาคม ในตลาดล่วงหน้าลอนดอนพุ่งแตะระดับใกล้ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (31 ม.ค.) ทำสถิติสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 99.97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบชนิดเบาของสหรัฐขยับขึ้นมาที่ 90.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
เช่นเดียวกับความปั่นป่วนในตลาดหุ้นโลกที่ เผชิญแรงเทขายมาตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้วต่อเนื่องมาถึงสัปดาห์นี้ ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากความวิตกกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจในอียิปต์ และผลกระทบลูกโซ่ที่อาจลุกลามไปยังประเทศคู่ค้าและธุรกิจต่างชาติในประเทศ นี้ อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยว ธนาคาร
ความวุ่นวายในอียิปต์มาจากความไม่ พอใจการบริหารงานของรัฐบาลของ ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ที่นอกจากจะกุมอำนาจเผด็จการมายาวนานเกือบ 30 ปี ยังเต็มไปด้วยปัญหาคอร์รัปชั่น
กระทั่งปัญหาราคาอาหารที่แพงขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายกระตุ้นให้ประชาชนหลายพันคนรวมตัวต่อต้านและขับไล่รัฐบาล
ต้นรากอียิปต์เอฟเฟ็กต์
หนังสือ พิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ ของอังกฤษตั้งข้อสังเกตว่า การประท้วงทั่วประเทศในอียิปต์ครั้งนี้ไม่เพียงจะสร้างความประหลาดใจในแง่ ของขนาดของการประท้วง แต่ยังตีแผ่ปัจจัยที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ครั้งนี้ว่า มีต้นรากมาจากปัญหาสังคม และการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากร
ประชากร ของอียิปต์ได้เพิ่มขึ้นจาก 50 ล้านคน เป็น 80 ล้านคน ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงและบริเวณสามเหลี่ยมปาก แม่น้ำไนล์ ที่สำคัญ การเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากรยังมาพร้อมกับช่องว่างรายได้ ระหว่างคนมีและคนไม่มี ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่าอัตราของประชากรที่ยากจนแบบสมบูรณ์ กล่าวคือ มีการดำเนินชีวิตต่ำกว่ามาตรฐาน มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 16.7% เป็น 19.6% ในช่วงปี 2543 ถึง 2548
นอกจากนี้ยังพบว่า แม้รัฐบาลอียิปต์จะมีนโยบายอุดหนุนเพื่อลดผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคา อาหารที่ทะยานขึ้นไปกว่า 17% ตามการทะยานของราคาคอมโมดิตี้โลก แต่ข้อมูลจาก CNNMoney ระบุว่า 40% ของชาวอียิปต์ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยรายได้ที่ไม่ถึง 2 ดอลลาร์ต่อวัน ดังนั้นจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบไปได้
อย่างไรก็ ตาม อียิปต์ไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญกับการประท้วงทำนองเดียวกันนี้ สื่ออาหรับ "เดอะ เดลี สตาร์" รายงานว่า การประท้วงของประชาชนจำนวนมากที่ไม่พอใจต่อปัญหาการว่างงานที่พุ่งลิ่ว และราคาอาหารแพงได้ก่อตัวขึ้นทั่วไปในตูนิเซีย อียิปต์ แอลจีเรีย จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย และเยเมน ขณะที่ CNNMoney รายงานเพิ่มเติมว่า พบการจลาจลในโมร็อกโกและปากีสถาน
วิกฤตอาหาร : ชนวนระเบิด
จากรายงาน ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า ดัชนีราคาอาหารทั่วโลกได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ พุ่งขึ้น 25% เฉลี่ยตลอดปี 2553 อันเป็น ผลมาจากราคาอาหารที่พุ่งขึ้นอย่างพรวดพราด ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพด
สาเหตุที่ทำให้อาหารและสินค้าคอมโมดิตี้แพงลิบลิ่วมาจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ภัยแล้ง อุทกภัย และโรคระบาดที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ
อาทิ สภาพอากาศที่แปรปรวน เกิดฝนตกหนักในเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้ผลผลิตข้าวโพดในไอโอวาลดลงประมาณ 9% แต่ความต้องการมีสูงมาก โดยเฉพาะจากโรงงานผลิต เอทานอลภายในรัฐ 41 แห่ง หรือการลดปริมาณฝูงสุกรลงจำนวนมากในแคนาดา เพื่อป้องกันโรคระบาด ทำให้ราคาหมูในสหรัฐพุ่งทะยานขึ้น เช่นเดียวกับราคาเนื้อสัตว์และฝ้ายที่ ปรับราคาขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ภาวะภัยแล้งในรัสเซียส่งผลให้ประเทศ นี้ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่รายหนึ่งของโลก ต้องหายหน้าไปจากตลาด เนื่องจากผลผลิตข้าวสาลีและข้าวโพดลดลง 35%
ในละตินอเมริกา โดยเฉพาะบราซิล กำลังประสบปัญหาการผลิตเอทานอลป้อนตลาด เนื่องจากอ้อยแพงขึ้นมาก
ไล่ มาที่เอเชีย โรคมือและเท้าเปื่อยส่งผลให้ปริมาณผลผลิตในส่วนของปศุสัตว์ในเกาหลีใต้ที่ ออกสู่ตลาดลดน้อยลงถึง 20% จนต้องเพิ่มการนำเข้าจากต่างประเทศ หรือกรณีที่ราคา ถั่วเหลืองในสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นจนเกือบทำสถิติใหม่ ๆ หลายครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการจากจีนที่เป็นผู้ซื้อ ถั่วเหลืองรายใหญ่ของสหรัฐ คาดการณ์กันว่า หากผลผลิตของอาร์เจนตินาลดลงอย่างฮวบฮาบ ราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกจะวิ่งขึ้นอีก เนื่องจากจีนจะต้องนำเข้าถั่วเหลืองจากที่อื่นแทน
ประมวลมาตรการตั้งรับ
ไม่ เพียงภัยธรรมชาติที่บั่นทอนผลผลิตอาหารให้ลดลงอย่างน่าตกใจ แต่จากรายงานข่าวของวอลล์สตรีต เจอร์นัล พบว่า ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ทั้งในสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป ทำให้นักลงทุนใช้ต้นทุนการเงินที่ถูกไปลงทุนในตลาดคอมโมดิตี้
ทั่ว โลก ไม่ว่าจะเป็นข้าว น้ำตาล ฝ้าย และน้ำมัน ส่งผลให้ราคาสินค้าเหล่านี้ขยับสูงขึ้น ยกตัวอย่างราคาถั่วเหลืองในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาพุ่งขึ้นถึง 46% ในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตร
ล่วงหน้าที่ชิคาโก (CBOT) ส่วนน้ำตาลในตลาดอินเตอร์คอนติเนนตัลเอ็กซ์เชนจ์ (ICE) พุ่ง 34% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ นูเรียล รูบินี นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังจาก มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ให้สัมภาษณ์ CNNMoney ตอนหนึ่ง โดยเตือนว่า ราคาอาหารที่แพงขึ้นมากมักจะกลายเป็นปัจจัย ที่ก่อให้เกิดปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และกำลังเป็นภัยคุกคามโลกที่สำคัญที่สุดตัวหนึ่ง โดยเฉพาะต่อเศรษฐกิจ ของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่
คำเตือนของรูบินีสอดรับสถานการณ์ที่ หลายชาติในเอเชียกำลังเผชิญ อาทิ จีนที่พบว่าอัตราเงินเฟ้อที่มาจากแรงผลักของราคาอาหารพุ่งทะยาน 9.6% เมื่อเร็ว ๆ นี้ เช่นเดียวกับอินเดียที่เงินเฟ้อประเภทเดียวกันสูงถึง 18%
แรง กดดันดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลต่าง ๆ ในภูมิภาคต้องดิ้นหามาตรการรับมือ อาทิ ในอินโดนีเซียรัฐบาลตัดสินใจจะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้ากว่า 50 รายการ รวมถึงข้าวสาลี ถั่วเหลือง ปุ๋ย และอาหารสัตว์ เพื่อชะลอการปรับขึ้นราคาอาหาร และมีแผนจะขึ้นภาษีส่งออกน้ำมันปาล์มจาก 20% เป็น 25% ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ รวมทั้งยังจัดสรรงบประมาณ 3 ล้านล้านรูเปียห์ เพื่อนำมาช่วยประชาชน
ในอินเดีย เลือกใช้วิธีขยายเวลาห้ามการส่งออกถั่วและน้ำมันประกอบอาหาร รวมทั้งเซ็นดีลกับเพื่อนบ้านคู่รักคู่แค้น ปากีสถาน เพื่อนำเข้าหัวหอมราว 1,000 ตัน ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในการปรุงอาหารของชาวภารต หลังราคาขึ้นสูงเพราะเหตุน้ำท่วม
แม้แต่จีนและอีกหลายประเทศในตะวัน ออกกลางใช้แนวทางควบคุมราคาสินค้า โดยเฉพาะจีนยังเพิ่มการเก็บสำรองสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ เช่น อาหาร และวัตถุดิบ ส่วนเกาหลีใต้ใช้แนวทางลดภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการแทน เช่น นมผง และเมล็ดกาแฟ นอกเหนือจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย
แม้เกือบทุก ประเทศกำลังทำงานแข่งกับเวลา แต่ยากจะคาดคะเนไดว่า เหตุการณ์ประท้วงทำนองเดียวกับที่เกิดขึ้นในอียิปต์และหลายประเทศในอาหรับ และแอฟริกาเหนือ จะ ลุกลามไปยังภูมิภาคใดและเอเชียคือหนึ่งในจำนวนนั้นหรือไม่
วันที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4285 ประชาชาติธุรกิจ