09 February 2011

ยุทธศาสตร์พัฒนา ศก.ล้มเหลว ต้นตอความเหลื่อมล้ำ-รวยกระจุก





ปาฐกถา เสาหลักของแผ่นดิน ซึ่งจัดโดยภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (The Rockefeller Foundation) เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา

เปิดเวทีครั้งแรก ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในประเทศ ด้วยหัวเรื่อง "ภาพรวมของความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการ พื้นฐานของประเทศไทย"

เนื้อหาในปาฐกถาสะท้อนความเหลื่อมล้ำในหลาย ๆ ด้าน แต่ด้วยข้อมูลสถิติใหม่ ๆ ที่ ดร.ผาสุกนำมา ตีแผ่ภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ดูโดดเด่น ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากกว่าทุกครั้งที่มีการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้

ดร.ผาสุก กล่าวว่า จากปี 2493-2539 หรือเกือบ 50 ปี อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% ต่อปีตามราคาจริง และปลายทศวรรษ 2530 เมืองไทยปรับเปลี่ยนจากสังคมเกษตรเป็นสังคมอุตสาหกรรมใหม่ จนธนาคารโลกกล่าวถึงเมืองไทยว่าเป็นเศรษฐกิจมหัศจรรย์ และได้รับการจัดลำดับเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ไม่ใช่ประเทศยากจนอีกต่อไป

แต่ การพัฒนาเศรษฐกิจไทยส่งผลให้มีโครงสร้างสังคมที่คนส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตร และเศรษฐกิจนอกระบบที่ไร้ความมั่นคง สาเหตุจากยุทธศาสตร์การพัฒนาและนโยบายที่เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดย มุ่งอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีและเงินทุนจากต่างประเทศ ละเลยการพัฒนาเทคโนโลยีและการปฏิรูปในภาคเกษตร และไม่ได้พัฒนาแรงงานมนุษย์อย่างพอเพียง

แม้ว่าภาคอุตสาหกรรม จะมีส่วนแบ่งในจีดีพีถึง 40% และสินค้าอุตสาหกรรม มีส่วนแบ่งถึง 90% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด แต่ภาคอุตสาหกรรมมีการจ้างงานเพียง 11% ของผู้มีงานทำทั้งประเทศ (2552) รัฐบาลมุ่งขายสินค้าส่งออกจึงไม่สนใจตลาดภายในภาคเกษตรถดถอยลดความสำคัญลง จนขณะนี้มีสัดส่วนเพียง 10% ของจีดีพี แต่ผู้มีงานทำหลักเป็นเกษตรกรยังมีสัดส่วนสูงถึง 38% และ อีก 22% ของผู้มีงานทำต้องอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ เช่น เป็นคนงานชั่วคราว เป็นธุรกิจขนาดเล็กขนาดย่อม เป็นคนหาบเร่แผงลอย และการบริการต่าง ๆ ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน

ดร.ผาสุก ระบุว่า แรงงานเกษตรและภาคเศรษฐกิจนอกระบบในเมืองอาจเป็นกลุ่มเดียวกันอพยพไปมา รวมกันจะมีแรงงานถึง 60% ของผู้มีงานทำทั้งหมด แต่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มคนงานที่มีการศึกษาที่เรียกว่าคนงานคอปกขาว หรือชนชั้นกลาง รวมทั้งการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและสินค้าและบริการสาธารณะได้น้อยกว่า ทั้งนี้ชนชั้นกลางที่พัฒนาขึ้นมีจำนวนไม่สูง ประมาณ 26% ของทั้งหมด แต่รายได้อาจจะเทียบเคียงได้ไม่ต่างจากประเทศพัฒนา เช่น อังกฤษ และอเมริกาเลยทีเดียว

นอกจากนี้ นโยบายเพื่อความเติบโตของเศรษฐกิจไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายราย ได้และความมั่นคงอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมแล้ว ยังไม่มีนโยบายป้องกันไม่ให้ความลักลั่นต่าง ๆ ถ่างตัวสูงขึ้น เพราะรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยดำเนินนโยบายกดกระบวนการทางแรงงานและสังคม ซึ่งในประเทศ อื่น ๆ มีบทบาทสำคัญผลักดันให้รัฐบาลจัดระบบสวัสดิการสังคมและการกระจายรายได้ที่ ยอมรับกันว่ายุติธรรม

"ในท้ายที่สุด ปัญหาของไทยคือการเลือกยุทธศาสตร์พัฒนาเอาเปรียบ คนงาน เพราะเน้นใช้แรงงานทักษะน้อยราคาถูก ละเลยเกษตร และไม่มีการปฏิรูปที่ดิน อาจกล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาลักษณะเฉพาะของไทย ที่ทำให้ผลของความเติบโตถูกแบ่งปันไปอย่างลักลั่น ความมั่งคั่งกระจุกตัวสูงในกลุ่มคนจำนวนน้อย ซึ่งหลาย ๆ ประเทศก็มีปัญหาแบบนี้ แต่ในกรณีของไทยนั้น แนวโน้มสู่ความรวยกระจุก ซึ่งมีลักษณะพิเศษเป็นผลการพัฒนาเฉพาะของไทย"

ดร.ผาสุก กล่าวว่า หากดูค่าสัมประสิทธิ์จีนี หรือตัวชี้ความลักลั่นกันในด้านรายได้ของไทย แนวโน้มระยะยาวตั้งแต่ปี 2503-2543 ไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ที่น่าทึ่งคือเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน พบว่าประเทศอื่น ๆ ดีขึ้นกันเป็นแถว แต่ไทยเลวลงกว่าประเทศอื่น ในขณะนี้ไทยมีระดับความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้แย่กว่า ประเทศอาเซียนใหญ่ ๆ ทั้งหมด

โดยช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยสุด 20% เทียบกับกลุ่มจนสุด 20% ของไทยสูงถึง 13 เท่า เทียบกับ 4 เท่าที่อเมริกาเหนือและยุโรป ขณะที่จีนและประเทศเอเชียอื่นสูงประมาณ 10-12 เท่า ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่เลวกว่าไทยคือ เวเนซุเอลา 16 เท่า อาร์เจนตินา 17.8 เท่า และบราซิล 21.8 เท่า ประเทศเหล่านี้มักมีภูมิหลังเป็นสังคมใช้แรงงานทาส การทำไร่ขนาดใหญ่ และมีชื่อเสียงว่าการเมืองไร้เสถียรภาพอย่างยิ่ง

ดร.ผาสุกยังโชว์ ข้อมูลในปี 2550 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับความมั่งคั่งของครัวเรือนไทย เป็นครั้งแรก ซึ่งครอบคลุมการเป็นเจ้าของที่ดิน บ้าน รถ ทรัพย์สินการเงิน และอื่น ๆ พบว่า ช่องว่างระหว่างคนกลุ่มมั่งมีที่สุด 20% กับคนที่มีน้อยที่สุด 20% สูงถึง 69 เท่า โดยที่ดินคือทรัพย์สินที่กำหนดความมั่งคั่งที่สำคัญที่สุด

นอกจากนี้ ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังชี้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นกลุ่มที่มีการสะสมที่ดินมาก โดยในปี 2553 ส.ส.ถือครองที่ดินโดยเฉลี่ยคนละ 212 ไร่ และ ส.ว. 133 ไร่

"ส.ส.และ ส.ว.นับว่าเป็นการถือครองที่ดินจำนวนที่สูงมาก และอาจอธิบาย ว่าเหตุใดนโยบายภาษีที่ดินจึงมักไม่เป็นผล" ดร.ผาสุกล่าว

สำหรับ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายได้ ด้านความมั่งคั่ง ด้าน การเข้าถึงสินค้าสาธารณะ เช่น การศึกษา และสาธารณูปโภคที่จำเป็นนั้น ดร.ผาสุกกล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ด้วยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เหมาะสม ซึ่งก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงบ้างในช่วงปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้ยอมรับว่ามีความเหลื่อมล้ำจริง และต้องแก้ไข ซึ่งหมายความว่าต้องมีการปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้มีรายได้มาใช้จ่ายสร้าง สินค้าสาธารณะ และเพื่อป้องกันไม่ให้ความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มขึ้น เช่น ต้องคิดถึงการกำหนดเพดานการถือครองที่ดิน การออกแบบภาษีทรัพย์เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้รัฐบาล ท้องถิ่น และเพื่อลดการเก็งกำไรในที่ดิน

"ขณะ นี้มีร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างที่กำลังได้รับการผลักดันให้ผ่านสภา แต่มีแรงต้านมากอยู่แม้ในพรรคประชาธิปัตย์เอง และล่าสุดเสนอไม่ทันการพิจารณาสภาในสมัยประชุมนี้ ซึ่งพอเข้าใจได้หากดูจากสัดส่วนการถือครองที่ดินของ ส.ส.และ ส.ว. ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะผู้ออกกฎหมายกลายเป็นผู้ถือครองที่ดินจำนวนมาก"



วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4287 ประชาชาติธุรกิจ

Sponsor