12 February 2011

เงินบาทร่วง... หลังนักลงทุนขายหนักในตลาดหุ้น

คอลัมน์ ภาวะเงินบาทรอบสัปดาห์

โดย วารุณี สิทธิถาวร สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4288 ประชาชาติธุรกิจ



ความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา (7-11 ก.พ.) เปิดตลาดที่ 30.78 บาท/ ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากนักลงทุนวิตกปัญหาการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับกัมพูชา ขณะที่สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในประเทศที่

ตึงเครียดมากขึ้นกลับมาสร้างแรงกดดันต่อภาวะการลงทุนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่ออกมาดี การว่างงานของสหรัฐที่ปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือนที่ 9.0% ในเดือน ม.ค. ทำให้นักลงทุนมีความหวังต่อเศรษฐกิจของสหรัฐมากขึ้น ส่งผลให้มีความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนในตลาดเอเชีย หนุนเงินสกุลเอเชีย รวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยค่าเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ 30.70 บาท/ดอลลาร์

ในช่วงกลางสัปดาห์ เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากช่วงต้นสัปดาห์ โดยอยู่ที่ 30.66 บาท/ดอลลาร์ แต่มีการอ่อนค่าลงมาอยู่ใกล้ระดับ 30.70 บาท/ดอลลาร์อีกครั้ง ตามการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นที่ซึมซับข่าวการคาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยในเอเชียหลังอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศ อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มีการเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้มีการเทขายทำกำไรออกมา เข้าสู่ช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทปรับตัวในทิศทางอ่อนค่าจากความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อในเอเชีย ทั้งนี้ การเทขายของนักลงทุน

ต่างชาติฉุดให้ตลาดหุ้นเอเชียดิ่งลง กว่า 2% นำโดยตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 950 อีกครั้ง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่องราว 8.6 พันล้านบาทในสัปดาห์นี้ โดยค่าเงินบาทร่วงลงแตะระดับ 30.80 บาท/ดอลลาร์ในช่วงท้ายสัปดาห์

สำหรับสัปดาห์นี้ (14-17 ม.ค.) สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย มองว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง และยังคงแกว่งตัวตามกระแสการไหลเข้าและไหลออกของเงินทุนจาก

ต่างประเทศ โดยคาดว่าเงินบาทจะปรับตัวในช่วง 30.75-31.05 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับ 30.60-30.94 บาท/ดอลลาร์ในสัปดาห์ก่อนหน้า

โดยกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศที่มีความผันผวนมากขึ้นในปีนี้ส่งผลให้ตลาดเงินมีความผันผวนเช่นกัน ทั้งนี้

นักลงทุนมีการเทขายทำกำไรในตลาดหุ้นเอเชีย หลังจากที่ดัชนีมีการปรับตัว

ขึ้น มากในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อในเอเชียที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังเป็นปัจจัยกระตุ้นให้นักลงทุนมีการเทขายสินทรัพย์ในภูมิภาคออกมา ที่สำคัญ ข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศหลัก ทั้งสหรัฐและยุโรปในระยะนี้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจประเทศหลักกำลังปรับตัวดีขึ้น และมีสัญญาณการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ทำให้นักลงทุนบางส่วนมีการโยกเงินกลับไปสู่ตลาดการเงินหลัก ซึ่งสถาน การณ์ที่เกิดขึ้น คาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ค่าเงินในภูมิภาค รวมทั้ง

ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลงในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องติดตามในช่วงสัปดาห์นี้ นอกจากข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่คาดว่าจะยังบ่งชี้

ถึง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐแล้ว นักลงทุนยังมุ่งความสนใจไปที่การประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ของจีนในช่วงต้นสัปดาห์ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นไปที่ระดับ 5.4% ในเดือน ม.ค. เทียบกับ 4.6% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางจีนต้องคุมเข้มนโยบายการเงินเพิ่มเติม ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนและการเคลื่อนไหวของค่าเงินในระยะต่อไป

Sponsor