09 February 2011

วิกฤตปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์มหายไปไหน-ใครรับผิดชอบ ?


น้ำมัน ปาล์มขาดแคลนและมีราคาแพงได้กลายเป็นปัญหายืดเยื้อ สร้างความเดือดร้อนให้กับ ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน โดยที่ กรมการค้าภายใน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลพืชน้ำมันไม่สามารถบริหารจัดการได้ หรือ "ยิ่งแก้ยิ่งขาด" โดยใช้วิธีการแก้ปัญหาเพียงวิธีการเดียวก็คือ การให้ องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มจากประเทศมาเลเซียมากระจายให้กับผู้ใช้ผ่านทาง สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม

แต่ผลการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไข (Crude Palm Olein) ลอตแรกจำนวน 30,000 ตัน ในช่วงปลายเดือน มกราคมที่ผ่านมากลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ให้ ดีขึ้น ทั้งในแง่ของปริมาณและราคายังคงขาดและแพงเหมือนเดิม สร้างความสงสัยให้กับผู้เกี่ยวข้องที่ว่า แท้ที่จริงแล้วปัญหาปาล์มขาดแคลนเกิดจากอะไร และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เพื่อการบริโภคนั้นหายไปไหน ?

ภัยแล้ง-ลานินญากระหน่ำ

สำนัก งานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ประมาณการพื้นที่ปลูกปาล์มภายในประเทศในปี 2553 ไว้ที่ 4.198 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่ให้ผลผลิต 3.552 ล้านไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการในปี 2552 ทว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงไตรมาส 3 ต่อ 4 ก็คือ ผลปาล์มภายในประเทศกระทบแล้งรุนแรง พอมาถึงเดือนพฤศจิกายนกลับเกิดปรากฏการณ์ลานินญา ฝนตกมากผิดปกติ ส่งผลให้ผลปาล์มที่เหลืออยู่สุกช้าจนต้องเลื่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตออกไป

ปรากฏการณ์ ข้างต้นทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันในช่วงไตรมาสที่ 4/2553 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ถึง ร้อยละ 14 ขณะที่ความต้องการใช้กลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 (รวมตัวเลขการใช้ B100 ที่เพิ่มขึ้นมาอีก 58,224 ตันน้ำมันปาล์มดิบ/ปี) นอกจากนี้ยังกระทบไปถึงประมาณการผลปาล์มในเดือนมกราคม 2554 ซึ่งเป็นผลปาล์มปลายฤดูควรจะออกสู่ตลาดประมาณ 646,632 ตันทะลาย หรือเทียบเท่ากับน้ำมันปาล์มดิบประมาณ 109,927 ตัน ก็ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

ทั้ง หมดนี้ส่งผลให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบปลายปีของอุตสาหกรรมนี้ที่ควรจะต้องอยู่ ในระดับไม่ต่ำกว่า 120,000 ตัน ลดลงเหลือเพียง 77,000 ตัน (ตัวเลขตรวจสต๊อกของกรมการค้าภายใน ณ เดือนธันวาคม 2553) หรือน้ำมันปาล์มดิบหายไปจากระบบถึง 43,000 ตัน ซึ่งสอดคล้องกับราคาผลปาล์มทะลายที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง ก.ก.ละ 7-8 บาท และน้ำมันปาล์มดิบที่พุ่งขึ้นไปสูงถึง 45-53 บาท/ก.ก.

สต๊อกผิดพลาดไม่ปรับประมาณการ

กลุ่ม โรงสกัด-โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ต่างรับรู้ถึงสัญญาณความผิดปกติของผล ผลิตปาล์มน้ำมันในครอปนี้มา ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2553 และได้พยายาม "ส่งสัญญาณ" ผ่านช่องทางต่าง ๆ ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือกรมการค้าภายในอย่างต่อเนื่อง ให้ปรับประมาณการตัวเลขผลผลิตและปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือ "แต่ไม่ได้รับการตอบรับ"

โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรยังคงยืนยันตัว เลขผลผลิตเดิม กับตัวเลขสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบปลายปีที่ใช้ตัวเลขเก่าที่ระดับ 137,571 ตัน มาจนถึงเดือนมกราคม 2554 ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันปาล์มดิบอย่างหนัก ปัญหาได้บานปลายต่อเนื่องมาถึงราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเพื่อการบริโภค ราคาได้ปรับสูงขึ้นไปถึงขวดละ 60 บาท (ขนาด 1 ลิตร) ขณะที่ราคาควบคุมของกรมการค้าภายในกำหนดให้จำหน่ายไม่เกินขวดละ 38 บาท

หรือโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ต้องขายน้ำมันปาล์มขวดในราคา "ขาดทุน" ขวดละ 20 บาทขึ้นไป

แก้ปัญหาช้า น้ำมันปาล์มหายจากระบบ

กรมการ ค้าภายในได้เข้ามาแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลนเอาเมื่อสถานการณ์วิกฤตเสีย แล้ว เมื่อน้ำมันปาล์มขวดราคาควบคุมทุกยี่ห้อ "หายไป" จากชั้นวางสินค้าของโมเดิร์นเทรด อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบทยอยออกมาร้องเรียนหาซื้อน้ำมัน ปาล์มไม่ได้ และจะส่งผลไปถึงข้อเรียกร้องในการขอปรับราคาสินค้าต่อเนื่องขึ้น

เมื่อ เหตุการณ์เข้าสู่ภาวะคับขัน คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติซึ่งมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เรียกประชุมเอาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2554 มีมติให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไข (CPO) จำนวน 30,000 ตัน จากประเทศมาเลเซีย ตามข้อเสนอของ กระทรวงพาณิชย์ ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มกราคม 2554

ขณะเดียวกัน กรมการค้าภายใน โดยคณะกรรมการกำหนดราคาสินค้าก็ได้มีมติให้ปรับขึ้นราคาน้ำมันปาล์มขวดขนาด 1 ลิตร จาก 38 บาท ขึ้นเป็น 47 บาทพร้อม ๆ กันไปด้วย แต่มีเงื่อนไขว่า น้ำมันปาล์มลอตนี้จะต้องถูกนำไปผลิตเป็นน้ำมันปาล์มขวดเพียงอย่างเดียว ห้ามขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ พร้อม ๆ กับการตั้งความหวังที่ว่า วิกฤตการณ์ปาล์มน้ำมันในปีนี้น่าจะสิ้นสุดลง เมื่อผลปาล์มครอปใหม่ทยอยออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้

นำเข้าลอตแรก รง.แบกขาดทุนอ่วม

อย่าง ไรก็ตาม เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ข้างต้น เมื่อน้ำมันปาล์มดิบแยกไขลอตแรก 30,000 ตัน ที่ อคส.เปิดประมูลได้มาในราคา CIF ที่ 1,289 เหรียญ/ตัน หรือประมาณ 39.80 บาท/ก.ก. บวกค่าขนส่งมาถึงท่าเรือกรุงเทพประมาณ 41-42 บาท/ก.ก. แต่ต้องนำมาผ่านกระบวนการกลั่นออกมาเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มีต้นทุนเฉลี่ย 57-58 บาท หรือ "สูงกว่า" ราคาควบคุมที่กรมการค้าภายในอนุมัติให้ปรับราคาขายปลีกที่ขวดละ 47 บาท

เท่า กับโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่นำน้ำมันปาล์มลอตนี้มาผลิตเป็นน้ำมัน ปาล์มธงฟ้าต้องขายขาดทุนทันทีขวดละ 10-11 บาท แต่หากนำน้ำมันปาล์มลอตนี้มา "ลักลอบ" ขายให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถทำราคาได้สูงถึง 80 บาท/ก.ก.ขึ้นไป ในเมื่อต้นทุนในการผลิตน้ำมันปาล์มขวดจากการนำเข้าลอตแรก 30,000 ตัน เป็นแบบนี้เสียแล้ว ถามว่า จะมีโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์โรงใด "ยินดี" ที่จะผลิตน้ำมันปาล์มขวดธงฟ้าออกสู่ตลาด

เท่ากับว่าสถานการณ์น้ำมัน ปาล์มขาดแคลนและมีราคาจำหน่ายสูงยังคงดำรงอยู่ต่อไป ตราบใดที่ราคาจำหน่ายปลีกไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง

กระทรวง พาณิชย์ได้แบ่งการแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลนและมีราคาแพงออกเป็น 2 ระยะ ดังต่อไปนี้ การแก้ไขปัญหาระยะสั้น 1) กำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดละ 47 บาท โดยใช้ราคาน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียที่มีการนำเข้ามาเป็นฐานในการคำนวณที่ ประมาณ ก.ก.ละ 36.50 บาท บวกค่าใช้จ่ายในการนำเข้า 1.50 บาท/ก.ก. มีผลตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2554 เป็นต้นไป แต่ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกยังมีความผันผวนต่อเนื่อง โดยในวันที่ 6 มกราคม 2554 ราคาได้ขยับสูงขึ้นเป็น ก.ก.ละ 38.54 บาท ส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มลอตนี้ (30,000 ตัน) ต้องแบกรับภาระส่วนต่างและขาดทุนจากการจำหน่ายปลีก โดยกระทรวงพาณิชย์จะทำการทบทวนการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันปาล์มอีกครั้งใน เดือนมีนาคม 2554

2) กระทรวงพาณิชย์จะเจรจากับห้างค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ (โมเดิร์นเทรด) ให้พิจารณาลดค่าใช้จ่ายในการกระจายน้ำมันปาล์มเพื่อให้สามารถวางจำหน่ายใน ราคาไม่เกินขวดละ 47 บาท 3) เร่งรัดให้ อคส.นำเข้า น้ำมันปาล์มลอตแรก 30,000 ตันโดยเร็ว และพร้อมที่จะนำเข้ามาเพิ่มเติมอีก 120,000 ตันกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้

4) แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบปริมาณ (สต๊อก-

สถาน ที่เก็บ และกำกับดูแลแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์ม) โดยให้ พล.ต.ต.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธาน

การแก้ไขปัญหาระยะยาว 1) จัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันปาล์มเช่นเดียวกับกองทุนน้ำมันเชื้อ เพลิง เพื่อให้น้ำมันปาล์มมีเสถียรภาพทั้งด้านปริมาณและราคา 2) จัดระเบียบการค้าผลปาล์มเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางการค้า

และ 3) การบริหารปริมาณสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่คล่องตัว โดยกำหนดให้มีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบเป็น Buffer Stock ในระดับ 150,000 ตัน



วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4287 ประชาชาติธุรกิจ

Sponsor