12 February 2011

กองทุนน้ำมันฯติดลบ วิธีคิดแปลก ๆ ของ "มาร์ค"

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4288 ประชาชาติธุรกิจ



เป็น ไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ว่า วงเงิน 5,000 ล้านบาท ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ถูกนำมาใช้เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ตามนโยบายของรัฐบาลนั้นหมดไปอย่างรวดเร็ว เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่ว่าจะเป็นเบรนต์ หรือดูไบ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ในระดับราคาปิดที่เกือบ 102 เหรียญ/บาร์เรล กับ 97 เหรียญ/บาร์เรล ตามลำดับ

ระดับราคาน้ำมันดิบ ดังกล่าว ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดจรสิงคโปร์ ซึ่งประเทศไทยใช้เป็นราคาอ้างอิง ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยราคาน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 108 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 114 เหรียญ/บาร์เรล มีผลทำให้เงินกองทุนน้ำมันฯที่ใช้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ ไหลออกอย่างรวดเร็วจากที่ประมาณการกันไว้ว่า ควรจะตรึงราคาดีเซลไว้ได้จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นั้น ไม่สามารถทำได้แล้ว

ขณะ ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังคงยืนยันนโยบายที่จะใช้เงินกองทุนเพื่อตรึงราคาดีเซลต่อไป จากความกลัว 2 ประการคือความต้องการที่จะควบคุมภาวะเงินเฟ้อในประเทศ และการปรับขึ้นราคาสินค้า

ความกลัวดังกล่าวถูกสะท้อนให้เห็นจากการ เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทันทีที่นายกฯได้รับรายงานว่า เงินกองทุนน้ำมันฯ 5,000 ล้านบาท ที่ใช้ตรึงราคาดีเซลปัจจุบันกำลังจะหมดไปภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 วัน ตามมาด้วยการออกมติสั่งให้กองทุนน้ำมันฯตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อไปจนถึงเดือน เมษายน โดยใช้เงินกองทุนอีกเดือนละ 5,000 ล้านบาท จากที่มีอยู่ประมาณ 23,000 ล้านบาท

มีเงื่อนไขว่า เงินกองทุนน้ำมันฯสุทธิจะต้องไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท หรือกองทุนน้ำมันฯจะถูกใช้เงินเพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อไปได้อีก 13,000 ล้านบาท ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ท่ามกลางความสงสัยของผู้คนที่ว่าแท้จริงแล้ว นายกฯกลัวอะไร ระหว่างภาวะเงินเฟ้อ หรือการหวังผลทางการเมืองก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในครึ่งปีนี้

ผลจึงตกอยู่ที่ความ สามารถในการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของสถาบันบริหารกองทุนบริหาร พลังงาน ซึ่งมี นายศิวะนันท์ ณ นคร เป็นผู้อำนวยการ จะ "พลิกแพลง" รักษาเสถียรภาพของกองทุนไว้ได้อย่างไร จากสภาพกองทุนปัจจุบันที่มีเงินไหลออกมากกว่าเงินไหลเข้า หรือเงินถูกจ่ายเพื่อชดเชยการตรึงราคาดีเซล "มากกว่า" เงินที่กองทุนเรียกเก็บจากการบริโภคน้ำมัน ซึ่งส่วนต่างดังกล่าวนับวันจะกว้างขึ้น จากธันวาคม 2553 วันละ 6 ล้านบาท กุมภาพันธ์ปีนี้ขยับเป็น 84 ล้านบาท

หรือพูดง่าย ๆ ว่า รายรับ-รายจ่ายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบันอยู่ในสภาวะ "ติดลบ" ซึ่งสามารถอธิบายการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯได้ว่า กำลังควัก "เงินต้นสุทธิ" มาใช้ จากเดิมที่เงินต้นสุทธิอยู่ในระดับ 28,000 ล้านบาท ถูกรัฐบาลเรียกใช้ไปแล้ว 5,000 ล้านบาทแรก และกำลังถูกเรียกใช้อีก 5,000 ล้านบาทที่สอง ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ปัญหาก็คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กำลังทำอะไรอยู่ ระหว่างการรักษาเสถียรภาพของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กับการหวังผลทางการเมืองก่อน การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

เพราะ นายกรัฐมนตรีกลับตอบคำถามนี้ว่า "การใช้เงินกองทุนเข้ามาตรึงราคาดีเซลเพิ่มขึ้นอีก 5,000 ล้านบาท ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ในทางกลับกันต้องถามว่า เราจะสะสมเงินกองทุนน้ำมันฯไว้ทำไม ถ้าเราไม่ใช้มัน"

แต่ประเด็นใน เรื่องนี้กลับอยู่ที่ราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาท/ลิตรนั้น "ไม่ใช่ของจริง" เป็นราคาบิดเบือน คนไทยทั้งประเทศกำลังใช้น้ำมันดีเซลในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และยิ่งราคาต่ำเท่าไหร่ เราก็ใช้น้ำมันดีเซลมากยิ่งขึ้น ยิ่งใช้น้ำมันมากขึ้น กองทุนน้ำมันฯก็เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อชดเชยส่วนที่จ่ายไปมากตามไป ด้วย

หัวใจสำคัญที่จะรับมือการขึ้นราคาน้ำมันดิบก็คือ "ความประหยัด" จึงใช้ไม่ได้กับคนไทย ตราบเท่าที่รัฐบาลใช้นโยบายบิดเบือนราคาอยู่

Sponsor