30 January 2011

กูรูชำแหละจุดเสี่ยงไทยปี54 ระวัง "เงินเฟ้อ-ค่าบาท-วิกฤตเงินออม"

จากการรวบรวมมุมมองหลายเวที "ประชาชาติธุรกิจ" พบว่า นักวิชาการและผู้นำธุรกิจหลายท่าน ได้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญในปี 2554 และปีถัด ๆ ไปอยู่หลายประการ ตั้งแต่ "แรงกดดันจากเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน จนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจต่างประเทศ"

ในประเด็นเงินเฟ้อนั้น ชัดเจนว่า เป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในปี 2554 หากอ้างอิงคำแถลงนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" รายงานการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นไปในทางเดียวกัน เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา

"แรงกดดันเงินเฟ้อมีมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นตามแนวโน้มราคาพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นเช่นกัน จากการ ส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหาร" กนง.ระบุไว้ในรายงานผลการประชุม

โดยคณะกรรมการประเมินว่า แรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีมากขึ้นจากปัจจัยทั้งทางด้านอุปทาน (cost-push) ได้แก่ 1) ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โลก 2) การส่งผ่านจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ไปยังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) มากขึ้น ขณะที่ยังมีสินค้าหลายรายการที่รอทางการอนุมัติให้ขึ้นราคา และ 3) ความสามารถในการตรึงราคาของผู้ผลิตเริ่มน้อยลง ทำให้ต้องทยอยส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคมากขึ้น และปัจจัยทางด้านอุปสงค์ (demand pull) ตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องเข้าใกล้ศักยภาพ (output gap แคบลง) ประกอบกับการคาดการณ์ต้นทุนของผู้ประกอบการที่ สูงขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้การปรับเพิ่มราคาในระยะต่อไปอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความกังวลของแบงก์ชาติ สอดรับกับมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหลัก ทรัพย์ฯรายหนึ่ง ที่ตั้งข้อสังเกตถึงตัวเลขเงินเฟ้อที่ทางการประกาศว่า รู้สึกแปลก ๆ ว่าต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะภาวะตอนนี้ราคาสินค้าแพงขึ้นมากแต่เงินเฟ้อขึ้น นิดเดียว จึงต้องดูว่าตัวเลขเงินเฟ้อมาได้อย่างไร เอาตัวเลขอะไรมาใส่บ้าง จากข้อมูลราคายางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ในช่วง 10 ปี ราคาทุกตัวส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ระหว่าง 200-400% เพราะ ฉะนั้นเงินเฟ้อจะอยู่แค่นี้ได้อย่างไร ไม่สะท้อนข้อเท็จจริง

"เงินเฟ้อที่เห็นอยู่เชื่อว่าไม่ใช่ของจริง จากที่ดูราคาของที่แพงขึ้น ดังนั้นขึ้น ดอกเบี้ยก็สกัดไม่อยู่ นี่คือปัญหาใหญ่ของโลก เงินเฟ้อที่สูงขึ้นน่าจะมาจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน ที่มีเม็ดเงินมากขึ้น นี่คือปัญหาของสหรัฐอเมริกาที่ก่อขึ้นมา" แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากเงินเฟ้อ ความเสี่ยงที่ยังอยู่ในความกังวลของภาคเอกชน ยังวนเวียนอยู่กับ "ค่าเงินบาท"

"พิสิฐ ลี้อาธรรม" อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สะท้อนถึงปัญหาค่าเงินบาท ระหว่างปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ภาวะเงินบาทกับเศรษฐกิจไทย" ในโอกาสครบรอบ 100 ปีตึกยาว โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยว่า เป็น จุดอ่อนของเศรษฐกิจไทยมาตลอด เมื่อใดที่เศรษฐกิจผันผวน ปัญหานี้จะปรากฏออกมา ตัวอย่างปัญหาครั้งใหญ่ที่สุดคือปี 2540 แต่ 13 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาค่าเงินบาท เพราะการอ่อนลงของค่าเงินทำให้ธุรกิจสามารถส่งออกได้

แต่เมื่อส่ง ออกได้มากไทยกลายเป็นประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัด และ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เช่นปีที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้น 10% ซึ่งระยะต่อไปจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกที่พึ่งวัตถุดิบการผลิตใน ประเทศสูง

ยิ่งกว่านั้น ในอนาคตอันใกล้ ประเทศในเอเชียรวมถึงไทยจะไม่อยู่ในภาวะเงินอ่อนค่าอีกต่อไป และทุกครั้งที่สถานการณ์ค่าเงินเปลี่ยน จะเกิดการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ อย่างที่เคยเกิดในปี 2531-2532 โดยผู้ประกอบการไทยจะต้องมองหาฐานการผลิตที่ต้นทุนถูก จะหวังให้ทางการดูแลไม่ได้

ความเสี่ยงทั้ง 2 เรื่อง เป็นความเสี่ยงเฉพาะหน้าในปีนี้ แต่ในมุมมองของ "โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์" ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กลับเสนอแนะให้มองไปถึงประเด็นปัญหาในอนาคตใน 2 เรื่องใหญ่ ๆ ได้แก่ แรงกดดันจากการขาดแคลนแรงงานที่ปัจจุบันมี 38.7 ล้านคน และจะเพิ่ม ไม่เกิน 1.5 ล้านคนใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่อินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นถึง 8.5 ล้านคน ดังนั้นประเทศไทยจะไม่ใช่เป้าหมายของบริษัทที่ต้องการย้ายฐานการผลิตไปยัง ที่ที่ต้นทุนถูก ดังนั้นจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้

อีกประการหนึ่ง คือ ปัญหาการลงทุนต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งเขาเห็นว่าไทยจำเป็นต้องลงทุนมากกว่านี้ และต้องมีฐานเงินออมที่แน่น แต่ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ไทยมีการออมเพียง 15.5% ของจีดีพี เทียบกับ 24.4% ในช่วงก่อนวิกฤตปี 2540

โดยเฉพาะการออมของภาครัฐ ถือเป็นจุดอ่อนของประเทศ เพราะเหลือต่ำเพียง 4.5% ของการออมรวม ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าปกติ เทียบกับอดีตที่เคยสูงถึง 37% สาเหตุหลักมาจากรัฐบาลนำเงินออกไปกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้เป็นรายจ่ายประจำไม่ใช่การลงทุน ถ้าไม่เร่งแก้ไขจุดนี้หากต้องการจะลงทุนก็จะมาจากการกู้เท่านั้น

"การช่วยเหลือประชาชนเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมาพร้อมกับการมีรายได้ที่สูงขึ้น เราจำเป็นต้องเปลี่ยนคือการใช้ความรู้ของธุรกิจเอกชนและการออมของภาครัฐที่ มากขึ้น ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนจะผ่านปีนี้ไปได้ แต่ปี 2555-2556 เราจะไม่มีอะไรหนุนหลังการเติบโตอีกต่อไป เหลือเพียงหนี้สินให้ลูกหลาน" นายโฆสิตกล่าว



วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4284 ประชาชาติธุรกิจ

Sponsor