โดย วีรพงษ์ รามางกูร
วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4248 ประชาชาติธุรกิจ
ขณะ นี้ในวงการธุรกิจต่างก็หวาดผวากับค่าเงินบาทที่จะ แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินตราสกุลอื่น ๆ ในทวีปเอเชียเกือบทั้งหมด รวมทั้งประเทศจีน ซึ่งนับวันจะยิ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทยเราเพิ่มขึ้น
ในขณะ ที่เอกชนไม่ว่าจะเป็นสภาหอการค้าก็ดี สภาอุตสาหกรรมก็ดี สื่อมวลชนก็ดี ออกมาส่งเสียงเซ็งแซ่กันไปทั่วว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่านี้จะเป็นการทำลายความสามารถในการแข่งขันของประเทศเรา แต่ผู้ว่าการ ธปท.ก็ดี ประธานคณะกรรมการ ธปท.ก็ดี ออกมาพูดได้อย่างไรก็ไม่ทราบว่า เงินบาทที่แข็งขึ้นไม่กระทบการส่งออก ไม่กระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็เป็นไปกับเขาด้วย ออกมาแก้ต่างให้ ธปท.ถ้า ธปท.ออกมาพูดฝ่ายเดียวก็พอเข้าใจ เพราะ ธปท.ไม่เคยเข้าใจและไม่สนใจ ความรุนแรงของการแข็งค่าของเงินต่อการ ส่งออก และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สื่อมวลชนของเราก็ไม่เคยเข้าใจ คอยแต่เอาอกเอาใจ ธปท. เพื่อจะได้ข่าวจากผู้ใหญ่ใน ธปท.
ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นย่อมมี ผลกระทบ ต่อการส่งออก การส่งออกย่อมกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ หลายคนเข้าใจว่าเมื่อค่าเงินบาทแข็งขึ้นก็ย่อมทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมที่ ต้องนำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ถูกลง แต่ไม่พูดว่าผู้ส่งออกที่ขายของเป็นเงินดอลลาร์ เมื่อนำเงินมาแลกเป็นเงินบาท ก็ได้เงินบาทน้อยลงเป็นเปอร์เซ็นต์มากกว่าการลดลงของวัตถุดิบ ชิ้นส่วนต่าง ๆ เสมอ ไม่ว่าจะใช้วัตถุดิบ ชิ้นส่วนเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนทั้งหมดก็ตาม ยิ่งมีต้นทุนจากการนำเข้าน้อย เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร ก็ยิ่งถูกกระทบมาก
ยก ตัวอย่างบริษัทแห่งหนึ่งนำเข้าชิ้นส่วนวัตถุดิบเกือบทั้งหมด ณ อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าของการนำเข้าที่เป็นวัตถุดิบชิ้นส่วน คิดเป็นเงินบาทได้ 950 บาท เสียค่าขนส่ง ค่าจ้าง เงินเดือน ค่าเช่า ค่าไฟ ค่าน้ำ รวมเฉลี่ย ต่อหน่วย 5 บาท ขายออกไปได้ 1,000 บาทต่อหน่วย กำไร 5 บาท หรือครึ่งเปอร์เซ็นต์
ต่อ มาอัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนจาก 33 บาท มาเป็น 30 บาท หรือประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนที่นำเข้าก็จะลดลง 9 เปอร์เซ็นต์ด้วย คือประมาณ 81 บาท ส่วนรายรับเมื่อแตกเป็นเงินบาทจะลดลง 9 เปอร์เซ็นต์ด้วย กล่าวคือ ลดลงประมาณ 90 บาท ต้นทุนลดลง 81 บาท แต่รายได้หายไป 90 บาท จากที่เคยกำไร 5 บาท ต่อชิ้น กลายเป็นขาดทุน 4 บาท ต่อชิ้น รายได้ที่แตกเป็นเงินบาทในอัตราแลกเงินบาทที่แข็งขึ้นย่อมลดลงมากกว่าการลด ลงของต้นทุนที่ลดลงเสมอ เพราะไม่มีใครทนขายของที่มีรายได้ต่ำกว่าต้นทุนได้นาน
เมื่อจะตั้ง ราคาขายลอตใหม่ก็ต้องตั้งราคาเพิ่มขึ้น 9 บาท จึงจะกลับมาอยู่ในฐานะเดิม ทำให้ต้องตั้งราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะขายได้ยากขึ้น หรือไม่ก็ต้องลดปริมาณการส่งออกลงในกรณีที่ขึ้นราคาขายไม่ได้ เพราะตลาดมีการแข่งขันสูง ผู้ผลิตเพื่อการส่งออกอาจจะต้องเลิกการส่งออก ผลิตแค่ขายในประเทศก็พอ ทำให้การส่งออกน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น แม้ตัวเลขการส่งออกจะเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าเงินบาทไม่แข็งขึ้น
ถ้าสัดส่วนของการนำเข้าวัตถุดิบชิ้นส่วนยิ่ง มีเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่านี้ เช่น มีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ 15 เปอร์เซ็นต์ หรือน้อยมากในกรณีของสินค้าจากภาคเกษตรหรืออาหาร เช่น หมู ไก่ หรืออาหารสำเร็จรูป หรือที่ต่อเนื่องจากภาคเกษตร ประโยชน์จากการที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นต่อต้นทุนการนำเข้าก็จะยิ่งน้อยกว่าราย รับที่ลดลง เมื่อแลกเป็นเงินบาทมากขึ้นก็จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรลดลงเป็นเปอร์เซ็นต์ ที่มากกว่าสินค้าที่มีสัดส่วนของการนำเข้าสูงมากขึ้น เช่น สินค้าที่มีสัดส่วนของต้นทุนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนจะลดลงเพียงเล็กน้อย แต่รายรับเมื่อแตกเป็นเงินบาทจะลดลงอย่างเต็มที่
อัตรา แลกเปลี่ยนย่อมกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวด้วย เพราะมีการแข่งขันกันดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมาก เมื่อเงินบาทแข็งขึ้นบริษัทนำเที่ยวก็ต้องขึ้นราคา มิฉะนั้นก็ขาดทุน ทำให้การเข้ามาเที่ยวเมืองไทยมีราคาแพง
การกล่าวว่า ไม่กระทบกระเทือนต่อการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะประเทศอื่นในภูมิภาคก็มีค่าเงินที่ แข็งขึ้น แต่ดูให้ดี ค่าเงินบาทของเราแข็งขึ้นมากกว่าประเทศอื่น ๆ มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและสิงคโปร์
การกล่าวว่า เงินบาทที่แข็งขึ้นไม่กระทบการส่งออก ไม่กระทบต่อชาวไร่ชาวนา จึงเป็นการกล่าวอย่างไม่รับผิดชอบ หรือไม่ก็กล่าวโดยไม่รู้ หรือรู้แต่พูดแก้ตัว ถ้ารู้ก็เป็นการกล่าวเท็จ
หนักยิ่งกว่านั้น เคยฟังประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและ ผู้ว่าการ ธปท.พูดว่า จะไม่กำหนดเป้าหมายของอัตราแลกเปลี่ยนแล้วแทรกแซงให้ได้ตามเป้าหมาย แถมย้ำว่า จำไม่ได้หรือ ปี 2540 เราถูกโจมตีค่าเงินบาทเจ็บแสบ แค่ไหน
ไม่ น่าเชื่อว่าจะเป็นคำกล่าวของผู้หลักผู้ใหญ่ใน ธปท.เพราะประเทศที่ถูกโจมตีคือประเทศที่ตรึงค่าเงินไว้แข็งกว่าความเป็นจริง ทั้ง ๆ ที่ฐานะทุนสำรองก็ต่ำ ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ขาดดุล จึงถูกโจมตีให้ค่าเงินอ่อนลง แต่ถ้าค่าเงินควรแข็งและตรึงไว้ให้อ่อน ยังไม่เคยเห็นเงินของประเทศไหนถูกโจมตีให้แข็งขึ้น เพราะถ้าโจมตีก็คือ ขนเงินดอลลาร์มาซื้อเงินบาทแบบหนัก ๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ของ ธปท.ยังมีความคิดเหมือนกับเต่าล้านปีที่หงายท้อง ไม่สามารถปรับตัวปรับความคิด ทั้ง ๆ ที่ฐานะทางการเงินของประเทศไทยเปลี่ยนจากหลังมือเป็นหน้ามือแล้ว ก็ยังไม่ตื่นจากฝันร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540
สาเหตุสำคัญที่เงิน บาทแข็งเร็วมากผิดปกติ ส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญก็เพราะ ธปท.ประกาศขึ้นดอกเบี้ย แถมยังประกาศล่วงหน้าว่าจะขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงปลายปี ขณะเดียวกันเจ้าของเงินดอลลาร์คือสหรัฐอเมริกาประกาศตรึงดอกเบี้ยไว้ ไม่ขึ้นดอกเบี้ย จึงเป็นเหตุให้ผลต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินบาทกับเงินดอลลาร์ถ่างมากขึ้น ผลตอบแทนต่อเงินบาทสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผลตอบแทนต่อการถือเงินดอลลาร์ ฝรั่งจึงขนเงินดอลลาร์มาแตกเป็นเงินบาท แล้วนำมาลงทุนในตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้นบ้าง ฝรั่งเลยได้กำไร 3 ต่อ คือ ฝากธนาคารไว้ก็ได้กำไรกว่าอยู่ที่อเมริกา เข้ามาซื้อหุ้น พอหุ้นขึ้นก็ขายได้กำไร พร้อม ๆ กันค่าเงินบาทก็แข็งขึ้น ยิ่งเข้ามาเงินก็ยิ่งแข็ง ตกลงกำไร 3 เด้ง
ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ตลาดเงินตราต่างประเทศก็เล็ก ตลาดพันธบัตรก็เล็ก ตลาดหุ้นก็เล็ก ฝรั่งนำเงินเข้ามาซื้อ ราคาหุ้นก็ขึ้น ค่าเงินบาทก็ขึ้น เวลาขึ้นเขาก็ขายได้กำไร ได้กำไรไปแล้วก็ไม่ต้องเอาออก ฝากธนาคารในเมืองไทยก็ได้ดอกเบี้ยมากกว่าเมืองนอก
วิธีแก้ไขของ ธปท.ก็น่ารัก คือ ผ่อนผันให้คนไทยนำเงินออกไปลงทุนใน ต่างประเทศได้ แต่คนไทยไม่ได้กินแกลบกินหญ้า ก็รู้เท่า ๆ กับฝรั่ง คือ ฝรั่งขนเงินดอลลาร์เข้าเมืองไทย มาแตกเป็นเงินบาท คนไทยมีเงินบาท ซึ่งมีอนาคตกว่าดอลลาร์ในเรื่องค่าเงิน แล้วคนไทยจะเอาเงินบาท ไปแตกเป็นดอลลาร์ไปลงทุนในต่างประเทศทำไม นอกจากเอาไปซื้อบ้านราคาถูกในสหรัฐ เราอยากเห็นอย่างนั้นหรือ ซึ่งคงจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาของ ผู้ผลิตในเมืองไทยกำลังเผชิญ
ขณะเดียวกันผู้คนก็ผวากลัวว่า ธปท.จะออกมาตรการแปลก ๆ อย่างที่เคยทำมาแล้ว เหมือนการออกมาตรการให้สำรองการนำเงินเข้า 30 เปอร์เซ็นต์ในปี 2550 วันเดียวดัชนีราคาหุ้นลดลงกว่า 100 จุด มูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หรือที่เรานิยมพูดทับศัพท์ว่า "market cap" ลดลงกว่าแสนล้านบาท ไม่มีอะไรที่ ธปท.ทำไม่ได้ เพราะความไม่รู้เศรษฐกิจไทย ทั้ง ๆ ที่มีนักเรียนทุนจบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์นั่งตบยุงกันเต็มสำนักงาน เหลือเชื่อจริง ๆ
ถ้าไม่อยากให้เงินบาทแข็งเร็วอย่างที่ผ่านมาก็ควร ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เลิกพูดว่าบัดนี้ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นแล้ว และควรลดอัตราดอกเบี้ยโดยเร็ว เพราะอัตราดอกเบี้ยกับอัตราแลกเปลี่ยนเปรียบเหมือนด้านหัวกับด้านก้อยของ เหรียญอันเดียวกัน ขณะเดียวกันก็เอาเงินบาทซึ่ง ธปท. มีไม่จำกัดออกมาซื้อดอลลาร์เข้าใส่เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ทุนสำรองมีมากขึ้น เงินบาทที่นำออกมาซื้อดอลลาร์ต้องมากพอจนเงินบาทอ่อนลงสู่ระดับที่เป็น เป้าหมายที่ตั้งไว้ในใจ ไม่ต้องบอกใครก็ได้ ค่อย ๆ เคลื่อนไหวก็ได้ แบบจีนเขาทำ ถ้าเห็นว่าสภาพคล่องในตลาดมากเกินไป ก็ออกพันธบัตรของ ธปท.ออกมาดูดซับ กลับคืนไป อย่ากลัวเสียดอกเบี้ยมากทีขึ้นดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนยังไม่เห็นกลัว กลับไปกลัวเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเรื่องอีกนาน เพราะราคาพลังงานก็ไม่น่าจะขึ้นจาก ความต้องการใช้ เมืองไทยนั้นอัตราเงินเฟ้อขึ้นอยู่กับพลังงานกับอัตราแลกเปลี่ยน เอาเรื่องเฉพาะหน้าระยะสั้นก่อน เพราะนโยบายการเงินเป็นนโยบายระยะสั้นไม่ใช่ระยะยาวอย่างที่ท่านว่าที่ผู้ ว่าการเข้าใจ ยิ่งตลาดเงินบาทบ้านเราเป็นตลาดเล็ก ไม่ใช่ตลาดใหญ่อย่างตลาดดอลลาร์ เราต้องเป็นเรือเข็ม ไม่ใช่เรือเอี้ยมจุ๊น อย่างอเมริกา
อีกอย่างอย่าไปเชื่อไอเอ็มเอฟ หรืออยากได้คำชมเชยจากไอเอ็มเอฟมากนัก เพราะกรรมการไอเอ็มเอฟที่มีอิทธิพลมาก ที่นั่นเป็นคนที่ธนาคารกลางอเมริกาส่งมา จุดมุ่งหมายเขาเพื่อประโยชน์ของอเมริกา ไม่ใช่จะมาดูแลผลประโยชน์ของประเทศเรา ผลประโยชน์ของไทยเราก็มีแต่คนไทยเท่านั้นที่จะช่วยกันดูแล
ถ้า ผู้ใหญ่ใน ธปท.ไม่ค่อยรู้เรื่องเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะภาคผลิต ภาคการส่งออก การขยายตัวทางเศรษฐกิจ พูดน้อย ๆ หน่อยก็จะดี ผู้คนจะได้ไม่รู้ว่า ธปท.ไม่ค่อยรู้เรื่องทางภาคเศรษฐกิจที่ แท้จริงมากนัก
ภาค ธุรกิจทั้งส่งออกและผลิตชิ้นส่วนส่งให้โรงงานผู้ส่งออกที่ทำงานมาทั้งปี เจอฝรั่งมาโยกตลาด 2-3 ที โดย ธปท.ช่วยพูดให้ท้ายด้วยความไร้เดียงสา ฝรั่งเอาไปกินหมด พวกเราทำงานฟรี แถมขาดทุนด้วย แล้วยังถูก ธปท.พูดให้ช้ำใจอีก
เมื่อจะเปลี่ยนผู้ว่าการ ทีแรกก็ดีใจ แต่พออ่านที่ว่าที่ผู้ว่าการให้สัมภาษณ์ก็ดี ฟังดูวิสัยทัศน์ก็ดี ดูจะหนักกว่าเก่าในความไม่เข้าใจเศรษฐกิจของไทย วิกฤตการณ์ทางการเงินที่ผ่านมา ธปท.เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น ไม่เคยเกิดขึ้นเพราะวินัยทางการคลังในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังเลย
ภาระ การชำระหนี้ในประเทศที่เป็น ภาระแก่ผู้เสียภาษีและงบประมาณแผ่นดิน ก็เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาสถาบันการเงินในความดูแล ของ ธปท.เป็นส่วนใหญ่ กระทรวงการคลังต้องตั้งงบประมาณจ่ายดอกเบี้ยให้ถึง ปีละ 50,000 ล้านบาท ธปท.ซึ่งสัญญาว่า จะจ่ายเงินต้นก็ไม่เคยผ่อนจ่ายหนี้กว่า 2.2 ล้านล้านบาทนี้เลย
สื่อ มวลชนก็ลำเอียง ธปท.พูดอะไร เชื่อหมด ไม่มีความรู้พอที่จะวิเคราะห์ว่าอะไรถูก อะไรผิด แถมรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังออกกฎหมายให้ ธปท.เป็นอิสระเต็มที่ ปราศจาก การถ่วงดุลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเลย ด้วยเหตุผลเดียว ไม่ไว้ใจนักการเมือง แต่ไว้ใจสถาบันที่เคยสร้างความพินาศให้กับประเทศไทยครั้งแล้ว ครั้งเล่า
การไม่รับผิดชอบ ไม่ทำอะไร ทั้ง ๆ ที่มีหน้าที่ต้องทำ บางทีเสียหายยิ่งกว่า นักการเมืองที่ทุจริตเสียอีก นักการเมือง เขารู้ดีว่าจะเสียหายอย่างไร เพียงแต่เขาพูดเป็นระบบไม่ได้เท่านั้น
รัฐบาลอาจจะพังด้วยเรื่องนี้ก็ได้