09 October 2010
สำรวจนักค้าเงิน..."28 บาท"... มีโอกาสเห็น
ค่าเงินบาทวานนี้ เคลื่อนไหวที่ระดับ 29.87-29.88 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางปริมาณธุรกรรมที่ค่อนข้างหนาแน่นจากทั้งผู้ส่งออก เงินทุนต่างประเทศและนักเก็งกำไร รวมถึงการเข้ามาดูแลเงินบาทของ ธปท.ด้วย
ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่ ไม่แข็งค่าอย่างรุนแรงมากในช่วงวานนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังลังเล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า จะมีการหารือกับผู้ว่าการ ธปท.ถึงการแข็งค่าของเงินบาท ขณะที่การดัชนียังติดลบ 8 จุด อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเงินบาทยังคงแข็งค่าได้อีก โดยมีจุดทดสอบระดับต่อไปอยู่ที่ 29.60 บาทต่อดอลลาร์ และ 29.50 บาทต่อดอลลาร์ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งความเคลื่อนไหวเงินบาทในระยะนี้ คาดว่าจะไม่แข็งค่ารุนแรงมากนัก เนื่องจากนักลงทุนต้องการรอดูตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐในวันศุกร์นี้ก่อน ส่วนในวันพรุ่งนี้คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 29.80-29.95 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ทิศทางค่าเงินบาท "กรุงเทพธุรกิจ" ได้สำรวจนักค้าเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่าค่าเงินบาท มีแนวโน้มแข็งค่าได้อีก
ภาณพ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารเงิน ธนาคารกรุงไทย เชื่อว่า หากไม่มีมาตรการใดๆ ออกมา ก็เชื่อว่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้อีก โดยมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทไปถึงระดับ 29.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ในเร็วๆ นี้ และคาดว่าในสิ้นปีนี้มีโอกาสที่จะเห็น 28.00-28.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ สาเหตุหลักมาจากดุลการค้าที่ยังคงเกินดุล ขณะที่เงินทุนที่ยังคงไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการที่ได้พบกับนักลงทุน ยังเห็นความต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศอยู่อีกมาก หลังจากที่ทางเลือกในการลงทุนในตลาดสหรัฐและยุโรป ยังมีข้อจำกัดอยู่นักลงทุนต้องการกระจายการลงทุนมายังประเทศในแถบเอเชีย ที่ยังมีความผันผวนน้อย และความเสี่ยงต่ำ
ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ต.ค.นี้นั้น เชื่อว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะอาจจะทำให้เงินบาทแข็งค่าได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่กำหนดทิศทางค่าเงินบาทใน ขณะนี้ โดยปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินแข็งค่ายังมาจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่มีการเกิดดุลการ ค้าตลอด ดังนั้น ไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นหรือไม่ ต่างชาติก็ยังเห็นโอกาสในประเทศไทยที่ยังมีความผันผวนน้อย น่าจะกระจายพอร์ตการลงทุนมาได้ ยิ่งอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐและไทยกับญี่ปุ่นกว้างขึ้น ทำให้นักลงทุนที่อยากมาอยู่แล้ว ต้องการเข้ามาลงทุนมากขึ้น
"หากไม่มีความเสี่ยงด้านการเมืองเกิดขึ้น หรือมีมาตรการควบคุมเงินทุนออกมา ที่จะทำให้นักลงทุนเปลี่ยนมุมมองในค่าเงินบาทได้ ก็ยังเห็นโอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าได้อีก ยิ่งตลาดรู้ว่าไม่ได้เอาจริงก็เลยไปแรง ด้วยระดับการแข็งค่าแบบนี้จะเห็น 29 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนสิ้นปีแน่นอน ส่วนมาตรการควบคุมเงินทุนเชื่อว่าคงไม่เกิด เพราะทำลายบรรยากาศโดยรวม"
ในส่วนของเป้าหมายการดูแลเงินเฟ้อนั้น เชื่อว่า ธปท.จะให้น้ำหนักกับการดูแลค่าเงินบาทก่อน เนื่องจากไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรเงินบาทก็ยังคงแข็งค่าอยู่ดี หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้แล้วค่าเงินบาทแข็ง ค่าไปอีก ธปท.ก็ถูกโจมตีหนักขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เป็นปัจจัยที่รอได้โดยเฉพาะการที่เงินบาทแข็งค่า ทำให้ความกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อมีน้อยลง เพราะการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันมีต้นทุนที่ถูกลง ดังนั้น หาก ธปท.ห่วงเรื่องอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบก็ยังสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้ก็ยังได้
"ไม่ว่า ธปท.จะตัดสินใจอย่างไรก็โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง หากขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วเงินบาทแข็งค่าทั้งที่ก็ต้องแข็งอยู่แล้ว แต่ก็จะกลายเป็นแพะที่ถูกกล่าวโทษได้ เพราะตอนนี้กระแสแรงเหลือเกิน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยบาทก็แข็ง แต่ยิ่งขึ้นก็ยิ่งแข็งเร็ว จึงเชื่อว่าในครั้งนี้ ธปท.คงไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่จะรอดูผลของค่าเงินที่จะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อว่าจะดีขึ้นหรือไม่ค่อยไป ปรับครั้งหน้า"
โดยที่ผ่านมา ธปท.เข้ามาพยุงค่าเงินบาทใน ปริมาณที่สูงมาก เห็นได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็น 1.6 แสนล้านบาท และมีฟอร์เวิร์ดอีก 1 หมื่นกว่าล้านบาท เพิ่มสูงมาก จากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ทุนสำรองเราแทบจะติดลบ
สุธีร์ โล้วโสภณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านบริหารเงินและค้าผลิตภัณฑ์การเงิน สายบริหารเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า มีโอกาสที่ ธปท.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้และหยุดไปพักหนึ่ง แม้จะได้รับแรงกดดันจากภาคเอกชน เนื่องจาก ธปท.เป็นองค์กรที่มีอิสระในการตัดสินใจ นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทจะช่วยให้เงินเฟ้อลดลงได้ในส่วนหนึ่ง ประกอบกับแนวโน้มการส่งออกที่จะชะลอตัวในช่วง 3-6 เดือนนับจากนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้ความกังวลด้านเงินเฟ้อลดลง โดยมองว่าค่าเงินบาทมีโอกาสแตะระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์ ในสิ้นปีนี้
"การแข็งค่าของเงินบาทเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถห้ามได้ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีการส่งออกมากกว่านำเข้า ทำให้เงินต่างประเทศต้องไหลเข้า หากอัตราดอกเบี้ยเราสูงกว่าก็มีผลในส่วนหนึ่ง ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะเห็นว่า ธปท.ได้เข้าไปช่วยพยุงไว้ให้แล้วดูจากทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นกว่า 1.7 แสนล้านบาท แต่ไม่สามารถฝืนความจริงได้ว่าเศรษฐกิจไทยดี การส่งออกโตดี แต่การทุ่มซื้อดอลลาร์ ของ ธปท.ทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะทุกบาทที่เปลี่ยนแปลงไปหมายถึงผลขาดทุนที่ ธปท.ต้องแบกรับ"
ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกจะต้องปรับตัวเองหาตลาดใหม่ๆ และค้าขายในสกุลเงินอื่นๆ รวมถึงการมองหาโอกาสในการซื้อเครื่องจักรใหม่มาปรับปรุงประสิทธิภาพ เพราะหากจะพึ่งแค่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะทำได้ลำบาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากค่าเงินบาทปรับ ตัวแข็งค่าไปถึงจุดจุดหนึ่ง เศรษฐกิจจะต้องปรับสมดุลตัวเอง โดยการส่งออกจะชะลอลง การนำเข้าจะเพิ่มขึ้น แต่ระหว่างทางจะเห็นความเจ็บปวดจากภาคการส่งออกบ้าง
"ในการปรับสมดุลเศรษฐกิจอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวรับความผันผวน ผู้ส่งออกต้องบริหารความเสี่ยงปรับการผลิต และหาทางลงทุนต่างประเทศ แต่ความผันผวนที่มีมากขึ้น ผู้ส่งออกเองก็ต้องระมัดระวังให้ดี แม้เงินบาทจะแข็งค่าวันนี้ เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง หากเงินบาทกลับตัวไปอีกข้างความผันผวนจะรวดเร็ว หากปรับตัวไม่ดีก็มีโอกาสขาดทุนสูง"
ธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในขณะนี้ ตลาดกำลังมองการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐในครั้งต่อไปว่าจะใช้มาตรการการ ผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐ (QE) อีกครั้ง โดยถือเป็นปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินดอลลาร์ ในระยะกลาง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา การคาดการณ์เรื่องดังกล่าว ทำให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น และค่าเงินดอลลาร์ อ่อนค่าลง โดยตลาดคาดการณ์เฟดจะใช้เม็ดเงินประมาณ 500-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในครั้งนี้ และหากอยู่ในระดับนี้ดอลลาร์จะไม่อ่อนค่าลงมากนัก ส่วนความเคลื่อนไหวของเงินบาทคาดว่า ธปท.จะดูแลให้สอดคล้องกับภูมิภาค
ที่มา bangkokbiznews.com