19 October 2010

นักวิชาการค้านลด'ดบ.'สู้บาทแข็ง แนะยกเครื่องอุตฯส่งออกระยะยาว

รัฐ-นัก วิชาการเสนอเร่งปฏิรูปอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ค้านแนวคิด "ดร.โกร่ง" เสนอหั่นดอกเบี้ยรวดเดียว 0.75%-กำหนดค่าบาท ระบุไม่จำเป็นต้องใช้ยาแรง แค่ กนง.ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยนโยบาย ก็เพียงพอดูแลเงินทุนไหลเข้า "ศุภชัย พานิชภักดิ์" แนะบริหารสัดส่วนการพึ่งพารายได้ส่งออกไม่เกิน 40-50% ลดทอนอิทธิพลอัตราแลกเปลี่ยน พบทุนร้อนจ่อทะลักท่วมโลก 5 แสนล้านดอลลาร์ใน ครึ่งแรกปี"54 หากสหรัฐปั๊มเงินรอบสอง ส่อฉุดดอลลาร์อ่อนลึกต่ออีก 15% สิ้นปีนี้


ดร.ศุภ ชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้ายการค้าและการพัฒนา (UNTAD) ให้ความเห็นขณะร่วมงานประชุมนานาชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีการบินไทย หัวข้อ "เอเชีย : ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจกับอุตสาหกรรมการบิน-Asia : Beyond the Economic Horizon" ว่าสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินทั่วโลกกำลังมีปัญหาก็จริง แต่ไทยยังมีความแข็งแกร่ง จากเสถียรภาพของกลุ่มประเทศเอเชียเศรษฐกิจแข็งแรงมาก ผนวกกับการเติบโตทางการลงทุนสูงที่สุดในโลกกว่า 20% ส่วนการแข็งค่าของเงินบาทเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับปัจจัยพื้นฐานเมื่อระบบ เศรษฐกิจโลกผันผวนค่าเงินบางประเทศอาจแปรผันตามไปบ้าง

สำหรับทางออก ของไทยขณะนี้ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน ดูแลดุลการชำระเงินให้คงที่ รักษารายรับของภาคการเกษตรไม่ให้ถูกกระทบมากเกินไป ขณะที่ตัวเลขเงินสำรองปัจจุบันมีสูงมากพอจะตั้งวิกฤตต่าง ๆ ได้ จีดีพีของประเทศเติบโตปีนี้ดี 7-8%

สิ่งที่กระทรวงการคลังทำอยู่ขณะ นี้น่าเชื่อถือสูงสุดแล้ว เพียงแต่จะต้องเพิ่มมาตรการโดยเปิดกว้างให้ธุรกิจในประเทศนำเงินไปลงทุนใน ต่างประเทศ บวกกับการส่งเสริมให้การใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทางด้านการผลิต ที่อยู่อาศัย สวัสดิการ สาธารณูปโภค และไม่ควรจะกังวลกับการพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกจะโดนพิษบาทแข็ง หากสามารถควบคุมให้อยู่ในระดับ 40-50% ได้

"ขณะนี้อาเซียนหลาย ประเทศไม่ว่าจะเป็นไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็เจอปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนพอ ๆ กัน แต่ทุกประเทศมีจุดแข็งตรงเป็นฐานการผลิตอาหาร การเกษตร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ แยกส่วนกันแต่สามารถนำไปประกอบรวมสำเร็จรูปได้ในจีน ดังนั้นจึงไม่ได้แย่งตลาดกันแต่กลับเกื้อหนุนกันมากกว่า เป็นผลดีมากกว่าเสียต่อการส่งออกไทยเองก็เติบโตกว่า 20% สิงคโปร์เพิ่มกว่า 30% หากคุยเพื่อร่วมมือกันได้จะยิ่งดี เรื่องนี้เตรียมหารือในเวทีอาเซียนซัมมิต"

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โดยภาพรวมเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความแข็งแกร่งและ เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไทยสามารถพึ่งพาโดยใช้ประโยชน์จากเครือ ข่ายการตลาดจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้ และรัฐบาลเองจะเร่งลงทุนพัฒนาความรู้บุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ควบคู่กันไปเพื่อเชื่อมโยงการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาศัย

สิ่งแวดล้อม เชิงบวกเพื่อสร้างเสถียรภาพ ค่าเงินบาทที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนทางการเงินของโลกใน ขณะนี้ ถือว่ายังไม่เลวร้ายถึงขั้นวิกฤต

เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุน ทางจีดีพีเติบโตได้ถึง 8% โดยเฉพาะการสร้างรายได้จากการขนส่งทางอากาศและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตลาดต่าง ประเทศปี 2553 ได้ถึง 15 ล้านคน รวมถึงเศรษฐกิจไทยในสถานการณ์ปัจจุบันมีความพร้อมจะเผชิญวิกฤตรอบด้านจาก 4 ปัจจัย คือ 1.การเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก 2.การ

ส่งเสริมให้การลงทุน ภาคเอกชนขยายตัว 3.การเพิ่มศักยภาพการผลิต ด้านเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ 4.การทำงานของรัฐบาลต้องโปร่งใส เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ในวันเดียวกัน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ได้กล่าวในงานสัมมนาพิเศษ "Resetting Thailand หรือทิศทางเศรษฐกิจชาติ มหภาคไทย" จัดโดยหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ที่โรงแรมสยาม

อินเตอร์คอนติ เนนตัล เมื่อวานนี้ (15) ได้ระบุถึงค่าเงินบาทที่เป็นปัญหาขณะนี้ว่า เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอาจจะเปราะบาง ศักยภาพของผู้ประกอบการอาจยังไม่ถึงระดับแข่งขันได้ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้พวกนี้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นมาได้

"เรื่องการ เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ทุกรัฐบาลพูดกันมานาน 5-6 ปี รวมถึงเรื่องค่าเงินบาทผันผวนเป็นระยะ ๆ โจทย์นี้ก็พูดกันมานานหลายปี ตอนนี้กำลังดูอยู่ว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างจริงจังอย่าง ไร โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การพัฒนาคน พัฒนาการวิจัย จะต้องมีแผนที่ชัดเจน มีเงินลงทุนที่ชัดเจน" นายอารีพงศ์กล่าว

สำหรับ ผลจากการแข็งค่าของเงินบาท นายอารีพงศ์ระบุว่าไม่ได้กระทบอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยมีอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ประมาท 40% และที่ไม่ถูกกระทบอีก 30% ส่วนที่เหลืออีก 30% ยอมรับว่า ได้รับผลกระทบรุนแรง ต้องดูแล โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งออกรายย่อยที่มีมูลค่าส่งออกไม่เกิน 200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทั้งระบบมี 17,000 ราย ในส่วนนี้กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐช่วย เหลือ ทั้งเรื่องสภาพคล่อง การลดต้นทุน และการป้องกันความเสี่ยง

ชี้ กนง.แค่ส่งซิกคง ดบ.พอแล้ว

ต่อ ข้อเสนอของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ย 0.75% และกำหนดเป้าหมายค่าเงินบาทนั้น นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการ

สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวว่า การดูแลเงินทุนไหลเข้า กนง.ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแรงด้วยการลดดอกเบี้ยลงก็ได้ เพียงแค่ส่งสัญญาณชัดเจนว่า คงดอกเบี้ยก็เพียงพอแล้ว

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่า เรื่องเงินทุนไหลเข้า อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาท ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นการทดสอบภาคทางการ (รวม ธปท.) จะมีแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินมากน้อยเพียงใด หรือมี ศอฉ.ทางการเงินหรือไม่ รวมทั้งเป็นปัญหาของภาคธุรกิจด้วย

นายอาคมประเมินว่า เงินบาทที่แข็งค่าแม้จะกระทบการส่งออกในปีนี้ คือ ทำให้รายได้ผู้ส่งออกเป็นเงินบาทลดลง แต่จะไม่กระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั้งปีนี้ที่สภาพัฒน์ประมาณการไว้ 7-7.5% เนื่องจากการคิดจีดีพีคำนวณจากปริมาณการส่งออก ซึ่งช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้

ผู้ส่งออกมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว

ในส่วนของมุมมองในตลาด ขณะนี้แทบไม่มีใครมองว่า กนง.จะลดดอกเบี้ย นาย

พร เทพ ชูพันธุ์ ผู้จัดการวิเคราะห์เศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แม้ดอกเบี้ยจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ดึงเงินให้ไหลเข้า แต่แรงกดดันต่อค่าเงินบาทขณะนี้คงทำให้ กนง.คงดอกเบี้ยในการประชุมรอบวันที่ 20 ก.ย. แต่คงไม่ลดตามที่มีบางฝ่ายเสนอ เพราะที่ผ่านมา ธปท.ส่งสัญญาณแล้วว่าดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น

"ถ้า กนง.ลดดอกเบี้ย จะเซอร์ไพรส์ตลาดมาก เพราะที่ผ่านมากว่าเขาจะปรับขึ้นได้ก็มีการส่งสัญญาณถึงตลาดอยู่ตั้งนาน แต่นี่ไม่มีสัญญาณว่าจะลด"

ระวังเงินเฟ้อสูง หากลด ดบ.แรง

ดร.ตี รณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินปัญหาค่าเงินบาทในขณะนี้ว่าทางการน่าจะมีเพียง 2 ทางเลือก โดยทางแรกคือ ดูแลค่าเงินบาทให้อ่อน โดยอาจลดอัตราดอกเบี้ย ชะลอเงินไหลเข้า และเข้าแทรกแซงซื้อเงินดอลลาร์ แต่ปัญหาที่จะตามมาคือ เงินเฟ้ออาจปรับสูงขึ้น เพราะสภาพคล่องจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ที่แบกรับภาระคือประชาชนทั่วไป แต่ผู้ส่งออกได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ ธปท.สามารถออกพันธบัตรมาดูดซับสภาพคล่องเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่หากทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จะมีต้นทุนในการดำเนินนโยบาย ที่น่าห่วงคือ ภาระหนี้ ธปท.จะสูงมากขึ้นเมื่อเทียบกับทุนอาจทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง ในที่สุดจะกลายเป็นปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อทิศทางการดำเนินนโยบาย ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องระวังด้วย

ส่วนทางเลือกที่สองคือ พยุงไม่ให้เงินบาทแข็งเร็วเกินไป เพราะคงจะฝืนกระแสตลาดลำบาก ซึ่งเชื่อว่าปัญหาค่าเงินจะต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี วิธีนี้ผู้ส่งออกอาจได้รับผลกระทบบางส่วน โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ไม่มีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน แต่ประชาชนทั่วไปจะได้ประโยชน์ เพราะเงินบาทแข็งมีส่วนช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ

"ปัญหาการแข็งค่าของเงินคงเป็นต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี" ดร.ตีรณกล่าว

จับตาดอลลาร์ดิ่งอีก 15% สิ้นปีཱ

ดอลลาร์ ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ในภาวะที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ในต้นเดือนหน้า โดยโคจิ ฟูคาย่า ประธานฝ่ายกลยุทธ์เงินตราของเครดิต สวิส ซีเคียวริตี้ ในโตเกียว กล่าวกับรอยเตอร์สว่า ณ จุดนี้ ไม่มีแนวโน้มที่ดอลลาร์จะดีดตัวกลับอย่างต่อเนื่อง แต่อาจมีการปรับตัวแข็งขึ้นบ้างในบางช่วง หากธุรกรรมที่ถือสถานะ "ขาย" ดอลลาร์มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก

อดัม คาร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากไอซีเอพี ออสเตรเลีย ในซิดนีย์ คาดการณ์ว่า ดัชนีดอลลาร์ (dollar index) ซึ่งพัฒนาโดยอินเตอร์คอนติเนนตัล เอ็กซ์เชนจ์ เพื่อใช้เป็นติดตามค่าเงินดอลลาร์ เทียบเงินสกุลหลักต่าง ๆ อาทิ ยูโร เยน และ

สวิสฟรังก์ มีแนวโน้มจะปรับลดลง 3-5% เป็นอย่างน้อย หรือสูงสุด 10-15% ภายในสิ้นปีนี้ หากธนาคารกลางสหรัฐประกาศเพิ่มการซื้อพันธบัตรรัฐบาลรอบใหม่ ในการประชุมต้นเดือนพฤศจิกายน

ทั้งนี้ เมอร์ริล ลินช์ ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐซื้อสินทรัพย์ทางการเงินสกุลดอลลาร์ เป็นมูลค่ารวมอย่างน้อย 5 แสนล้านดอลลาร์ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 จากวงเงินทั้งหมด 1 ล้านล้านดอลลาร์ ที่คาดว่า สหรัฐจะตั้งไว้สำหรับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบ

สภาอุตฯเสนอ 7 มาตรการเบรกค่าบาท

นาย พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับ 14 กลุ่มอุตสาหกรรม, 10 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด, 7 สมาคมการค้า, สมาคมธนาคารไทย และตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ได้ข้อสรุปของภาคเอกชนที่จะเสนอรัฐต่อนโยบายอัตราดอกเบี้ยกับสภาวะการแข็ง ค่าของเงินบาททั้งสิ้น 7 มาตรการ ได้แก่

1)ขอให้ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 ตุลาคม 2553 ให้เหลือ 1.25% ซึ่งจะไม่เป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อขยายตัวอย่างเป็นนัยสำคัญ จนมีผลต่อเศรษฐกิจประเทศไทย 2)มาตรการ

ต่าง ๆ ทั้งของกระทรวงการคลัง และ ธปท.ที่ออกมาแล้ว ขอให้ผลักดันให้มีในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่ใช่มีมาตรการแต่ไม่สามารถปฏิบัติ ประกอบกับต่างชาติเห็นช่องโหว่ก็เพิ่มเงินไหลเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินมากขึ้น เช่น มาตรการชำระค่าระวางเรือและค่าสินค้า ซึ่งยังติดปัญหาด้านเทคนิคกับกรมสรรพากร, โครงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ก็ยังไม่มีการผ่อนปรนหลักประกัน เป็นต้น

3) ธปท.ต้องส่งสัญญาณอย่างจริงจังในการดูแลไม่ให้เงินผันผวนไปตามการเก็งกำไร 4)ขอให้ ธปท.เข้มงวดเงินที่เข้ามาในลักษณะการเก็งกำไรทั้งในตลาดทุนและตลาดตราสาร หนี้ โดยจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมาตรวจสอบติดตามอย่างใกล้ชิด 5)

ขอให้ ธปท.ออกกฎเกณฑ์ควบคุมและจำกัดจำนวนเงินกู้ยืม และแลกเปลี่ยนเงินบาทของสถาบันการเงิน และ/หรือผู้ประกอบการธุรกิจด้านการเงิน

6)ขอ ให้ ธปท.และกระทรวงการคลังร่วมมือในการหามาตรการที่เข้มข้นเพิ่มขึ้นกว่าที่ออก มาแล้ว โดยใช้นโยบายทั้งการเงินและการคลังให้สอดคล้องกัน เพื่อลดการนำเงินเข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น และ 7)ขอให้พิจารณาดำเนินการออกมาตรการชั่วคราวในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของเงิน ทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศในอัตรา 2-4% เพื่อลดการไหลเข้าของเงินจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการจัดเก็บในส่วนนี้ แต่มีระเบียบสามารถดำเนินการได้ โดยมีหลายประเทศที่ทำอยู่ เช่น อินโดนีเซีย, บราซิล เป็นต้น

วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4254 ประชาชาติธุรกิจ

Sponsor