เอพี รายงานว่า ไฟลต์บินที่ล่าช้ากว่ากำหนดส่งผลกระทบมากกว่าแค่ความไม่สะดวกในการเดินทาง แต่ยังทำให้ผู้โดยสารต้องแบกต้นทุนถึง 16.7 พันล้านดอลลาร์ และส่งผลต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจโดยรวมราว 33 พันล้านดอลลาร์
สำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐ (FAA) ได้ศึกษาเรื่องต้นทุนของผู้โดยสารจากกรณีที่ไฟลต์บินดีเลย์ในปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่เก็บข้อมูลอย่างสมบูรณ์ล่าสุด พบว่า กรณีที่ไฟลต์บินดีเลย์ทำให้หลายฝ่ายมีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยในส่วนต้นทุนของสายการบินจากกรณีไฟลต์ดีเลย์อยู่ที่ 8.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างลูกเรือ เชื้อเพลิง และการบำรุงรักษา ส่วนต้นทุนทางเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 33 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งเป็นส่วนที่ผู้โดยสารต้องแบกรับ หรือราว 16.7 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนในส่วนดังกล่าวลดลงในช่วง 3 ปีหลังจากปี 2550 เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ในปี 2550 การเดินทางโดยเครื่องบินเพิ่มขึ้นมาก เพราะเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติคมนาคม พบว่า ในปี 2550 จำนวนไฟลต์บินในประเทศที่ดีเลย์อยู่ที่ 1.3 ล้านไฟลต์ และยกเลิกไฟลต์บินราว 119,000 เที่ยว ส่วนในปีที่แล้ว มีไฟลต์บินดีเลย์ 85,000 ไฟลต์ และยกเลิกบินอีก 63,000 ไฟลต์
ทั้งนี้ การที่ไฟลต์บินล่าช้ามักเกิดจากปัญหาทางเทคนิค หรือสภาพอากาศ แต่ก็สามารถบริหารจัดการได้โดยเพิ่มความสามารถในการรองรับของสนามบิน และระบบควบคุมการจราจรทางอากาศที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็อาจทำให้รัฐบาลและอุตสาหกรรมการบินต้องแบกต้นทุนราว 40 พันล้านดอลลาร์
วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 15:15:30 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์