โดย สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์
เรื่อง การแข็งของค่าเงิน อัตราดอกเบี้ยต่ำ และเงินเฟ้อต่ำ มีความสัมพันธ์ต่อกัน มีต้นเหตุจากเรื่องเดียวกัน อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกันได้ เรื่องนี้เริ่มต้นที่การเคลื่อนย้ายของเงินทุน (ขอนำเสนอด้านเงินทุนไหลเข้า และทำให้เงินท่วมประเทศด้านเดียว)
โดยทั่วไป ทางการจะกำหนดให้ใช้เงินบาทในการทำธุรกรรมในประเทศ เมื่อเงินทุนไหลเข้า จึงนำไปแลกเปลี่ยนเป็นบาท (นำไปซื้อบาท) ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ทำให้ดอลลาร์เข้าไปอยู่ในธปท. ทำให้ทุนสำรองการเงินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้บาทเข้ามาอยู่ในระบบมาก บาทอยู่ในระบบมากๆ ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำ
สาเหตุที่เงินทุนไหลเข้า และทุนสำรองสูงขึ้น
1) จาก Real trade (ธุรกรรมจริง) ได้ดุลการค้า (ส่งออกมากกว่านำเข้า) ได้ดุลการท่องเที่ยว (คนเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากกว่าคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ) ได้ดุลการลงทุน (ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากกว่าคนไทยนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ) ได้ดุลการกู้เงิน (กู้เงินจากต่างชาติมากกว่าต่างชาติมากู้เงินจากไทย ได้ดุลบริจาค (ต่างชาติบริจาคให้ไทยมากกว่าไทยบริจาคให้ต่างชาติ) ฯลฯ การไหลเข้าออกของเงินทุนในส่วนนี้จะทำให้ปริมาณทุนสำรองเบี่ยงเบนไม่มาก
2) จาก Paper trade หรือการซื้อขายในตลาดหุ้น (ธุรกรรมการซื้อขายกระดาษ) จาก การเข้ามาลงทุน และเก็งกำไรในตลาดหุ้น ตลาดเงิน และตลาดเงินตรา เมื่อเห็นว่าเศรษฐกิจเข้าสู่วงจรขาขึ้น เงินจากต่างประเทศก็จะไหลเข้ามาในประเทศ เข้ามาซื้อหุ้น (ตลาดทุน) และเข้ามาซื้อพันธบัตร (ตลาดเงินและตลาดเงินตรา) แล้วจะมีการสวมรอยปั่นตลาดหุ้นให้ขึ้นสูงสุดๆ แล้วเทขาย การไหลเข้า ของเงินทุนในส่วนนี้จะทำให้ปริมาณทุนสำรองเบี่ยงเบนสูงมาก เข้าก็แรง ออกก็แรง เป็นผลให้เงินท่วมระบบ (และแห้งไปจากระบบง่ายดาย) ที่ส่งผลให้ประเทศไทยและหลายๆ ประเทศต้องเข้าไอเอ็มเอฟมาแล้ว
3) เกิดนำเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนำ Maintenance margin และ forced sell มาใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2536 (ทำให้ SET ขึ้นสูงสุดในต้นปี 2537 แล้วเทขายหุ้นและบาทออกมา) การเปิดกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงินในปี 2528 การเปิดตลาดอนุพันธ์ในปี 2547 ในรัฐบาลทักษิณ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการปรับปรุงการคำนวณดัชนี NASDAQ ในปี 1999 ทำให้ดัชนี NASDAQ เกิดความเบี่ยงเบนมากขึ้น ทำให้ NASDAQ ขึ้นสูงสุดในต้นปี 2000 แล้วจากนั้นจึงเทขายหุ้นออกมา และค่าดอลลาร์ก็พังทลายตามตลาดหุ้น
ผลกระทบจากเงินทุนไหลเข้า บาทแข็งค่า
ผู้ส่งออกได้เงินน้อยลง ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ส่งออกที่นำเข้าวัตถุดิบจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า บางบริษัททำธุรกิจทั้งนำเข้าและส่งออก ก็อาจจะเสียหายไม่มาก ผู้นำเข้าได้เงินมากขึ้น ได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน คือใช้บาทน้อยลงในการซื้อดอลลาร์ไปชำระค่าสินค้า คนฝากเงินรับดอกเบี้ยฝากต่ำ คนกู้เงินจ่ายดอกกู้สูง เงินเฟ้อจะอยู่ระดับต่ำ เพราะการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เช่น ราคาน้ำมันมีต้นทุนที่ต่ำลง ดอกเบี้ยติดลบ คือ ดอกเบี้ยฝากต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ผู้ใช้บริการธนาคารต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงขึ้น เมื่อธนาคารมีรายได้จากดอกเบี้ยน้อยลง จึงต้องมาหารายได้จากค่าธรรมเนียม ทำให้ค่าธรรมเนียมต่างๆ สูงขึ้น ราคาสินค้าส่งออกถูกกดดันราคาให้ต่ำลง
ประเทศ ไทยกำลังเผชิญกับภาวะความผิดปกติทางเศรษฐกิจอีกครั้ง สมัยรัฐบาลชวลิต-ชวน 2 ประเทศไทยประสบภาวะเงินแห้งประเทศ บาทอ่อนค่า แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ขณะนี้เผชิญกับภาวะเงินท่วมประเทศ บาทแข็งค่า
indexthai@yahoo.com
http://twitter.com/indexthai
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000144923