09 October 2010

บาทแข็งขยี้เอสเอ็มอี ปรับกระบวนทัพก่อนเจ๊ง

เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 9% ขึ้นมาอยู่ที่ 30.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ

ที่มา...ทีมข่าวการเงิน โพสต์ทูเดย์

เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 9% ขึ้นมาอยู่ที่ 30.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ใครที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่า และผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจริงหรือ ทั้งที่ตัวเลขการส่งออกยังเติบโตต่อเนื่อง แม้กำไรจะปรับตัวลดลง

ส่วนฟากผู้นำเข้าได้ใช้โอกาสนี้นำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่??

รายงานวิเคราะห์ภาวการณ์ส่งออก นำเข้าของไทย ประจำเดือนส.ค. 2553 ของกระทรวงพาณิชย์ มีความชัดเจนส่วนหนึ่งว่า ผู้ประกอบการก็ได้ประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า

โดยตัวเลขเดือน ส.ค. การนำเข้ามีอัตราการเติบโตสูงกว่าตัวเลขการส่งออก แต่ก็มีผู้ส่งออกที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ส่งออกข้าว เพราะประสบปัญหาการแข่งขันด้านราคา

ในรายงานระบุว่า มูลค่าการส่งออกเดือนส.ค. มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 โดยมีมูลค่า 16,452 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.9% เป็นการสูงขึ้นของทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่มขึ้น 14%

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญเพิ่มขึ้นถึง 26.1% เป็นการส่งออกไปยังตลาดหลักเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ถึง 31.2% ส่งออกไปยังตลาดศักยภาพสูง เช่น อินเดีย และอาเซียน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ถึง 44.3%

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้สิทธิข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ ทำให้การส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่าเช่น ยางพารา อาหารทะเลแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป

ส่วนสินค้าที่ลดลงทั้งมูลค่าและปริมาณ ได้แก่ ข้าว เนื่องจากปัญหาการแข่งขันด้านราคากับประเทศเวียดนาม ปากีสถาน และอินเดีย รวมทั้งปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท

ด้านการนำเข้าเดือน ส.ค. มีมูลค่า 15,809 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.1% เป็นการขยายตัวในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าวัตถุดิบ กึ่งสำเร็จรูป กลุ่มสินค้าทุน และกลุ่มยานพาหนะ และอุปกรณ์การขนส่ง

แสดงให้เห็นถึงนักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ และความชัดเจนของการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยเฉพาะเครื่องจักร และส่วนประกอบ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และขยายการผลิต

การขยายตัวของภาคการส่งออก ส่งผลให้เดือนส.ค. ไทยได้ดุลการค้า 643 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ไทยได้ดุลการค้ารวม 6,081 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคและการลงทุน บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศปริมาณการส่งออกมากกว่านำเข้า สะท้อนจากดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล

ดังนั้นหากมองผลของเงินบาทที่แข็งค่า กลุ่มผู้ส่งออกหลายกลุ่มจะเริ่มได้รับผลกระทบมากขึ้น

อย่างไรก็ตามแม้การส่งออกจะมีสัดส่วน 60% ของจีดีพี แต่ไม่ใช่ผู้ส่งออกทั้งหมด 60% ที่ได้รับผลกระทบในทางลบ เพราะในจำนวนนี้จะมีผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบทั้งในประเทศ และผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศ หมายถึงมีการนำเข้าสินค้าด้วย ซึ่งตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วง 7 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 67% ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 60% แต่หากเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตอัตรากำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 78% เท่ากับว่าตัวเลขขณะนี้ดีขึ้น เหมาะแก่การลงทุน และนำเข้าสินค้า

แม้ตัวเลขกำลังการผลิตจะไม่พุ่งสูงมากนักเมื่อเทียบจากปีก่อน แต่ก็ถือว่าเป็นทิศทางที่ดี เพราะฐานการกำลังการผลิตใหญ่ขึ้น ตัวหารที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ตัวเลขเฉลี่ยออกมาไม่สูงมากนัก ทั้งที่ช่วงที่ผ่านมามีการลงทุนในปริมาณที่มากพอควร เห็นได้จากบริษัทรถยนต์ที่ลงทุนในไทยมีการขยายโรงงานอย่างต่อเนื่อง

“เดือน ส.ค. และ ก.ย. เป็นช่วงที่เริ่มเห็นเงินบาทแข็ง ฉะนั้นตัวเลขผลกระทบในเชิงกำไรของผู้ประกอบการจะเห็นชัดในไตรมาสหน้า ตอนนี้ยังไม่เห็นตัวเลข แต่เสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจเริ่มกระทบแล้ว จากที่คุยกับผู้ประกอบการบางราย ตอนนี้มาร์จินบางมาก ทั้งกลุ่มสิ่งทอ และอาหารส่งออก มีการพูดแล้วว่า ถ้าเงินบาทแข็งอย่างนี้ไม่รับคำสั่งซื้อตอนนี้ยังดีกว่า เพราะขาดทุน แต่จะทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ เพราะธุรกิจต้องดำเนินต่อไป ตอนนี้ภาพของผู้ประกอบการจึงไม่ค่อยรับคำสั่งซื้อล่วงหน้ายาว จากเดิมรับล่วงหน้า 3-6 เดือน แต่ตอนนี้รับเพียง 1 เดือนเพราะเก็งไม่ถูกว่าค่าเงินจะเป็นอย่างไร” นางพิมลวรรณ กล่าว

นางพิมลวรรณ กล่าวว่า ตัวเลขกระทรวงพาณิชย์ที่ออกมา มีการนำเข้าสูงมากกว่าที่คาด ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเงินบาทแข็ง เพราะสินค้าโภคภัณฑ์มีราคาถูก แต่หากหักกลบแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อประเทศ คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะการแข็งค่าของเงิน ทำให้กำไรลดลง และลูกค้ากลุ่มนี้มีปริมาณการส่งการออกที่ไม่ได้มากถึงขั้นมีทุนมากพอจะซื้อ ป้องกันค่าเงินล่วงหน้า (ฟอร์เวิร์ด) เมื่อเทียบกับผู้ส่งออกขนาดใหญ่

สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีนั้น มองว่ารัฐบาลควรหาทางช่วยเหลือ เช่น อาจมีการตั้งกองทุนช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากค่าเงินบาท เพื่อช่วยให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีทุน และเข้าถึงการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินได้

รวมถึงรัฐบาลอาจให้ธนาคารของรัฐเข้ามาช่วยเหลืออีกแรงก็ได้ เพราะหากเงินบาทแข็งค่าทะลุ 30 บาท ก็ยิ่งน่าเป็นห่วง หากถึงจุดนั้น ก็ต้องกลับไปถามว่าผู้ประกอบการจะทำอย่างไร รัฐบาลจะทำอย่างไร เพราะนี่คือความกังวลของผู้ประกอบการที่ขณะนี้ต่างพยายามหาทางออกด้วยตัวเอง เพื่อประคองธุรกิจให้ปรับตัวต่อไป

ขณะที่อุตสาหกรรมของไทย โดยเฉลี่ยแล้วใช้วัตถุดิบ และแรงงานในประเทศ (Local Content) รวมประมาณ 45-50% ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าทุก 1 บาท จะทำให้รายได้ของธุรกิจหายไป 1.5-2% ตัวเลขนี้เป็นค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม แต่ถ้าอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก อาจจะกระทบทำให้รายได้หายไปเกือบ 3% ซึ่งหากธุรกิจมีมาร์จินต่ำ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไปอีกจะทำให้ธุรกิจมีกำไรเหลือน้อยมาก

แต่การดำเนินธุรกิจ ค่าเงินอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่กำหนดความสามารถในการแข่งขัน เพราะทิศทางในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า เงินบาทก็จะยังแข็งค่า เนื่องจากทิศทางเงินเหรียญสหรัฐจะยังอ่อนค่าต่อไป จนกว่าจะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว และธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) หันกลับมาปรับขึ้นดอกเบี้ย

ดังนั้นผลของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดตอนนี้ คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ผลิตรายเล็กที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ซึ่งขณะนี้ต้องดิ้นหาทางอยู่รอดด้วยตัวเอง ไม่ใช่ผู้ส่งออกขนาดใหญ่ที่มีสายป่านยาวกว่า

Sponsor