3 สัปดาห์ ต่างชาติทิ้งหุ้นไทยแล้วเฉียด 3 หมื่นล้านบาท โดยสัปดาห์ที่ 2 และ 3 รับแรงเทขายมากสุด ทุบดัชนีทรุดตั้งแต่ต้นปีนี้ 7.55% พบกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มพลังงานและธนาคาร เหตุปรับพอร์ตทำกำไร 2 ต่อ ทั้งช่วงบาทแข็งและอ่อน จับตาทุนสิงคโปร์ฉวยจังหวะระบายหุ้น ทั้งเทมาเส็กและจีไอซี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แรงเทขายหุ้นในฟากนักลงทุนต่างประเทศยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ ที่แล้ว ซึ่งจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าในช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 4-24 มกราคม 2554 ต่างชาติได้เทขายหุ้นไทยออกมาแล้ว 29,290.22 ล้านบาท ส่งผลทำให้ดัชนีปรับตัวลงตั้งแต่ต้นปี 7.55% หรือ 78.73 จุด จาก 1,042.41 จุด เมื่อวันที่ 4 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ 963.68 จุด และยังเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่กันยายน 2553
โดย นักลงทุนเทขายหุ้นไทยมากสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 และสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน เป็นมูลค่าสัปดาห์ที่สอง 13,833.76 ล้านบาท และ 12,091.56 ล้านบาท ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ม.ค.) พบว่าต่างชาติยัง เทขายต่อเนื่อง รวม 4,049.49 ล้านบาท
ทั้งนี้ หุ้นที่ตกเป็นเป้าหมายของการเทขายในเดือนนี้ ได้แก่หุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคาร
หุ้น ที่ถูกเทขายอย่างหนักในช่วงนี้ ประกอบด้วยหุ้นบริษัท บ้านปู (BANPU) ที่ราคาปรับตัวลงถึง 12.6% จาก 856 บาท อยู่ที่ 748 บาท บริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ราคาลงมาถึง 28% จาก 56.25 บาท อยู่ที่ 40.50 บาท บริษัท ปตท. (PTT) ลดลง 6.1% จาก 342 บาท อยู่ที่ 321 บาท ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ลดลง 11.5% จาก 169.5 บาท อยู่ที่ 150 บาท ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ลดลง 10.79% จาก 106.5 บาท อยู่ที่ 95 บาท
นายอภินันท์ เกลียวปฎินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวว่า จากการที่นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยออกมา รวมทั้งตลาดเกิดใหม่ในแถบเอเชีย จนทำให้เห็นว่ากระแสเงินลงทุน (Fund Flow) มีการเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นเกิดใหม่ออกไปมาจากภาพใหญ่ เชื่อว่าจะมีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายประเทศในเอเชีย หลังอัตราเงินเฟ้อ ปรับตัวขึ้นมาแรงจนนโยบายดอกเบี้ยปรับขึ้นไม่ทัน
โดย การเทขายของต่างชาติมีมา ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน แต่จะเป็นการขายอย่างหนักในตลาดหุ้นอินโดนีเซียจนทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงไป ถึง 4% และสัปดาห์นี้ก็มาขายทำกำไรและปรับพอร์ตในตลาดหุ้นไทยต่อ ซึ่งการเทขายออกมาตรงนี้ แล้วแต่มุมมองของนักลงทุนที่จะให้มูลค่าตลาดหุ้นไหนลดลง แต่ไม่ได้ถึงกับจะทิ้งหุ้นไทยไปเลย เพราะเม็ดเงินที่ต่างชาติลงทุนในไทยสูงถึง 2 ล้านล้านบาท
ขณะที่นาง ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ กรรมการผู้จัดการ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การที่ตลาดหุ้นไทยเทขายอย่างหนักช่วงนี้ มาจากการที่ดัชนีหุ้นไทยในปีที่ผ่านมามีการเติบโตสูงมาก เรียกได้ว่าติด 3 อันดับแรกของตลาดหุ้นโลก จึงทำให้เมื่อดัชนีสามารถยืนเหนือ 1,000 จุดได้ และค่าเงินบาท ก็แข็ง ก็ได้กำไร 2 ต่อ ทำให้เกิดการ เทขายหุ้นออกมา
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส บล.เอเชียพลัส กล่าวว่า การปรับตัวของตลาดในช่วงนี้ถือว่าลงแรงกว่าที่คาดไว้มาก โดยมองว่ามาจากการขายเพื่อทำกำไรในกลุ่มประเทศ TIP (ไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์) จากที่ทำกำไรให้กับนักลงทุนค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา
นอก จากการขายทำกำไรของ นักลงทุน ยังมีปัจจัยจากความกังวลหลัง เทมาเส็กขายหุ้นไทยออกมาค่อนข้างมาก ซึ่งในเบื้องต้นไม่สามารถคาดการณ์ว่าการขายมาจากสาเหตุใด โดยยอมรับว่าเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงค่อนข้างแรง
"ถึง แม้จะมีการขายทำกำไรค่อนข้างมาก แต่แนวรับยังอยู่ที่ 950-960 จุด และยังเชื่อว่าเป้าหมายดัชนีในปีนี้จะอยู่ที่ 1,194 จุดได้ เนื่องจากความน่าสนใจของตลาดหุ้นในเอเชีย รวมถึงตลาดหุ้นไทยยังคงมีอยู่" นายเทิดศักดิ์กล่าว
ด้านนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า หลังจากดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาสูงแล้ว และค่าเงินบาทของไทยก็แข็งค่าขึ้นมาทำสถิติสูงสุด ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ได้กำไรไปแล้ว 50% ในรูปของดอลลาร์สหรัฐ ก็จะอาศัยจังหวะนี้ขายหุ้นเพื่อปรับพอร์ตและทำกำไรของตัวเอง ซึ่งตลาดหุ้นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีค่าเงินแข็งค่าไปในทางเดียวกันก็ถูกเทขาย จนดัชนีปรับตัวลงรุนแรงไปก่อนหน้านี้แล้ว
"จากนี้ไป การเทขายของต่างชาติคงกินเวลาไปอีกระยะหนึ่ง เพราะเป็นเงินทุนระยะสั้น ที่พร้อมจะโยกย้ายได้ตลอด แต่สุดท้ายยังมั่นใจว่าด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจในกลุ่มเอเชียที่ไม่มีปัญหา เทียบกับอเมริกาและยุโรป กระแสเงิน จะกลับมาลงทุนต่อ ซึ่งนักลงทุนควรติดตามปัจจัยกระแสเงินลงทุนอย่างใกล้ชิด และไม่ควรใช้บัญชีมาร์จิ้นมาลงทุนทั้งหมด" นายจรัมพรกล่าว
วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4283 ประชาชาติธุรกิจ