เก็งกำไรตลาดล่วงหน้าพ่นพิษ ราคายางพาราดิ่งเหวร่วงเกือบ 100 บาท/ก.ก. สหกรณ์ชาวสวนยาง-พ่อค้าที่แห่สต๊อกยางเจ๊งระนาว ด้าน ชสยท.ฟันธงทั่วประเทศอ่วมขาดทุน 10,000 ล้าน สหกรณ์หยุดซื้อน้ำยางสด บริษัทขนาดใหญ่สต๊อกท่วมโรงงาน ด้านประธานหอการค้าสุราษฎร์ฯระบุ ถ้าราคายางดิ่งเหลือ 50 บาท/ก.ก. กระทบการผ่อนส่งค่างวดรถแน่ ขณะที่ สกย.สรุปยอดเกษตรกรแห่ขอปลูกยางพื้นที่ใหม่เฉียด 2 ล้านไร่ เกินเป้าที่ตั้งไว้ 3 ปี แค่ 8 แสนไร่
สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ ผ่านมาว่า เป็นการลดลงในทิศทางเดียวกับราคาตลาดล่วงหน้าโตเกียว-สิงคโปร์ เนื่องจากเหตุการณ์ความตึงเครียดในลิเบียและตะวันออกกลาง ประกอบกับจีนชะลอการซื้อและนำยางในสต๊อกมาใช้ เพื่อรอให้ราคายางปรับตัวลดลง
ขณะที่พ่อค้าคนกลางยังคงระบายสินค้าออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเกรงว่าราคายางจะปรับลงอีก โดยวิเคราะห์ได้จากสต๊อกยางลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 65,532 ตัน (วันที่ 31 ม.ค. 54) มาอยู่ที่ 46,730 ตัน (วันที่ 7 มี.ค. 54) หรือลดลงร้อยละ 28.69 โดยราคาส่งออกยางแผ่นในช่วงนี้อยู่ที่ 150 เหรียญ FOB/ตัน ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงมา ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมาที่ระดับราคา 172 เหรียญ FOB/ตัน หรือเพียง 1 สัปดาห์ลดลงไปถึง 22 เหรียญ/ตัน
แนว โน้มราคายางในช่วงวันที่ 14-18 มีนาคมจะปรับตัวลดลงไปอีก จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศญี่ปุ่น และผู้ประกอบการในไทยยังคงชะลอการซื้อ เพราะมีสินค้าจำนวนมากในโรงงานที่ยังไม่สามารถขายออกได้ ขณะที่จีนและอินเดียยังคงชะลอซื้อเพื่อรอให้ราคาต่ำลงอีก
นางสมศรี แก้วสลับนิล ฝ่ายบัญชีสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหูแร่ จำกัด อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำยางสดที่สหกรณ์รับซื้อลงมาเหลือ 70 บาท/กิโลกรัม ทำให้ขาดทุนไปแล้วกว่า 700,000 บาท สหกรณ์จึงหยุดรับซื้อน้ำยางสดตั้งแต่ วันนี้ (15 มี.ค.) เป็นต้นไป เพราะแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว
"สมาชิก สหกรณ์ในกลุ่มของเรามีประมาณ 100 รายที่ทำสวนยางต่างก็หยุดกรีดยางกันแล้วเพราะสู้ราคาตกต่ำไม่ไหว คงต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป 1 เดือน" นางสมศรีกล่าว
ด้านนางพวงเพ็ญ พุทธรรมรงค์ เจ้าของกิจการรับซื้อน้ำยางสดและเศษยางในพื้นที่ ต.ปากหมาก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ราคายางพาราตกลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยรับซื้อน้ำยางสดรับ 65 บาท/ก.ก. เศษยาง 20-30 บาท/ก.ก. โดยพ่อค้าแม่ค้าพยายามซื้อในราคาที่ ต่ำที่สุดเท่าที่จะซื้อได้ เนื่องจากโรงงานขนาดใหญ่ไม่เปิดราคายางโรงงานมา 2 วันแล้ว ทำให้ร้านขนาดเล็กไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ จึงต้องซื้อราคาต่ำไว้ก่อน ซึ่งราคายางที่ตกลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ทำให้มีผลผลิตยางตกค้างอยู่ในมือชาวสวน และร้านรับซื้อเป็นจำนวนมาก
"ใน ช่วงที่ราคายางแผ่นสูงถึง 180 บาท ต้องใช้เงินหมุนเวียนหน้าร้านวันละ 300,000 บาท แต่ขณะนี้เบิกเงินสดมา 100,000 บาทสามารถซื้อน้ำยางและเศษยางได้ 2-3 วัน โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ค่อยนำยางออกมาขาย เพื่อรอให้ราคาขึ้นสูงกว่านี้ก่อน"
ด้าน นายสมมาตร แสงประดับ นักเศรษฐกรชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเสถียรภาพราคายาง สำนักงานตลาดกลางยางพารา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ภาวะราคายางผันผวน เป็นผลมาจากการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้า ส่งผลให้พ่อค้ายังไม่นำผลผลิตที่ซื้อไว้ออกมาขาย และโรงงานไม่ยอมรับซื้อผลผลิตยาง เนื่องจากประสบภาวะขาดทุน จึงเก็บสินค้าไว้เพื่อรอดูสถานการณ์ด้านราคาก่อน
ส่วนสถานการณ์ภัย พิบัติในญี่ปุ่น ไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดยางพาราในบ้านเรามากนัก ถ้าหากญี่ปุ่นสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้รวดเร็ว และมีเงินอัดฉีดเข้าระบบ โดยตลาดส่งออกหลักของยางไทย ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ส่วนญี่ปุ่น ไทยส่งออกยางไม่ถึง 20%
"ราคายางพาราที่ควร จะเป็นควรจะอยู่ที่ 100 บาท บวกลบไม่เกิน 20 บาท ซึ่งเป็นราคาที่มีเสถียรภาพ สอดคล้องกับความเป็นจริงของตลาด หลังจากนี้ในระยะเวลาอันใกล้ ราคายางอาจขยับตัวสูงขึ้นได้อีก แต่คงไม่กลับไปยืนที่ราคา 180 บาท/ก.ก. ยกเว้นกรณีเกิดภัยแล้งยาวนานจนไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาด" นายสมมาตรกล่าว
นาย ทวี พรหมสังคะหะ ประธานชุมนุมสหกรณ์สวนยางจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ได้รับผลกระทบมากจากราคายางที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม ทำให้เงินหายไป 30 ล้านบาท ทั้งนี้หากรวมสหกรณ์อื่น ๆ รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อยอีกราว 100 แห่ง สูญเสียรายได้ประมาณ 100 ล้านบาท
สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ก็อยู่ในสภาพ ยางล้นสต๊อก มีโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราไม่น้อยกว่า 3 แห่งใน จ.สงขลาไม่รับซื้อยางแล้ว เพราะส่งออกไม่ได้ ซึ่งแนวโน้มราคายางน่าจะลงมาอีก คาดว่าจะไต่อยู่ที่ 60 บาท/ก.ก. แต่หากราคาสินค้าอื่น ๆ ไม่ลดลง ต้องประสบปัญหาหนักแน่นอน
ด้านนาย เอกพจน์ ยอดพินิจ ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ราคายาง 90 บาท/ก.ก. เป็นราคาที่เกษตรกรยังอยู่ได้ ไม่ถือว่าเลวร้าย และเป็นราคาที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของตลาด ส่วนการซื้อรถป้ายแดงจำนวนมากซึ่งเป็นผลมาจากราคายางสูงในช่วงที่ผ่านมา จะไม่ส่งผลกระทบต่อการผ่อนส่งค่างวดรถ แต่ถ้าราคายางตกลงไปเหลือ 50 บาท/ก.ก. จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน
ขณะที่นายเพิก เลิศวางพงศ์ ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) เปิดเผยว่า ราคายางพาราที่ร่วงลงมา ทำให้สถาบันเกษตรกร ผู้ค้าขนาดเล็ก ขนาดกลางและรายย่อยทั่วประเทศ ขาดทุนไปแล้ว 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะสหกรณ์ชาวสวนยางจันทบุรีที่ตนเป็นประธานกลุ่ม ประสบภาวะขาดทุนประมาณ 60 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 6 ล้านบาท และอีก 4 สหกรณ์ ขาดทุนประมาณ 120 ตัน มูลค่า 12 ล้านบาท ปัจจุบันสหกรณ์ของ ชสยท.มีประมาณ 418 แห่ง ต่างประสบภาวะวิกฤตทั้งหมด
"ผมได้เรียกประชุมหน่วยงาน ธุรกิจเพื่อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ เพื่อยื่นต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในวันที่ 21 มี.ค.นี้ พร้อมระดมตัวแทนเกษตรชาวสวนยางทั่วประเทศกดดันให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาโดย เร็วที่สุด"
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ เปิดเผยว่า จะเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อหารือเรื่องปัญหาราคายางในวันที่ 21 มีนาคมนี้ โดยมีข้อเสนอให้โรงงานขยับราคารับซื้อยางแผ่นเพิ่มขึ้น รวมถึงให้หยุดการส่งออกยางเป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ส่วน การยื่นขอรับการสงเคราะห์โครงการปลูกยางพาราในพื้นที่แห่งใหม่ระยะที่ 3 (2554-2556) ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ได้สรุปยอดการยื่นขอรับการสงเคราะห์ ปรากฏมีเกษตรกรยื่นขอรับการสงเคราะห์รวมทั้งสิ้น 208,726 ราย เนื้อที่ 1,888,446.99 ไร่ เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ 800,000 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ภาคเหนือ 28,475 ราย เนื้อที่ 244,105.65 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 168,746 ราย เนื้อที่ 1,523,014.92 ไร่ ภาคใต้ 4,615 ราย เนื้อที่ 38,328.42 ไร่ ภาคตะวันออกและภาคกลาง 6,890 ราย เนื้อที่ 82,998 ไร่