16 March 2011

ญี่ปุ่นทุ่มซื้ออาหารกู้วิกฤต "รับเหมา-พลังงาน-ปิโตรเคมี"ได้อานิสงส์ ราคา-กำไรพุ่งแน่

สำรวจ ผลบวก-ลบธุรกิจไทย กลุ่มไหนได้-เสียจากแผ่นดินไหว-สึนามิญี่ปุ่น เผยกลุ่มหลักส้มหล่นมีทั้ง "พลังงาน-ปิโตรเคมี-อาหาร-รับเหมา" ราคา-กำไรพุ่งแน่ ขณะที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขาดหนัก กระทบ "สมาร์ทโฟน" ค่ายรถยนต์หวั่นส่งมอบรถช้า หุ้นไทยร่วงหนักต่ำกว่า 1,000 จุด ส่วนเจโทรยันการลงทุนญี่ปุ่นยังมาไทย บีโอไอพร้อมหนุน


"ประชา ชาติธุรกิจ" ได้สำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจต่าง ๆ ต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งลบและบวกจากแผ่นดินไหวและสึนามิของญี่ปุ่น โดยนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากนี้ไปอีก 6 เดือน-1 ปี อาจมีผลกระทบเชิงบวกกับธุรกิจ 3 หมวด ได้แก่ 1.ราคาพลังงาน 2.ราคาปิโตรเคมีจะปรับสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจโรงกลั่นจะได้ประโยชน์ หลังจากญี่ปุ่นจำเป็นต้องหยุดเดินเครื่องโรงกลั่นน้ำมันรวม 6 โรง รวมกำลังการผลิต 25% และหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3.มีการนำเข้าอาหารมากขึ้น โดยพื้นที่เพาะปลูกถูกคลื่นสึนามิพัดไปไกลกว่า 100-200 กิโลเมตร

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นตรงกันว่าญี่ปุ่นจะนำเข้าอาหารมากขึ้น โดยสินค้าไทยซึ่งส่งไปญี่ปุ่นปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่ต้องรอให้การจัดการท่าเรือในญี่ปุ่นสู่ภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์นี้ ไม่เช่นนั้นจะกระทบการเก็บและขนส่งสินค้าประเภทปศุสัตว์และอาหารทะเล

ด้าน นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้การส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นได้รับการยืนยันแล้วว่าท่าเรือเซนไดหยุด ดำเนินการ 2 สัปดาห์ ส่วนท่าเรืออื่น ๆ เปิดปกติ

ขณะที่นายสุวิทย์ มโนมัยยานนท์ ผู้อำนวยการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจรับเหมาครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัทคงจะเข้าไปรับงานซ่อมแซม บูรณะโครงสร้างพื้นฐาน อาคารบ้านเรือนอีกเป็นจำนวนมาก ความต้องการใช้สินค้าเหล็ก ซีเมนต์ในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้น

ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ป่วน

นาง สาวทิฆัมพร เปรมอยู่ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท สีมาเทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ป้อนให้กับ NEC และ Panasonic ของญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย กล่าวว่า ตอนนี้บริษัทติดต่อกับทางญี่ปุ่นที่จัดส่งชิ้นส่วนเพื่อนำมาผลิตสินค้าไม่ ได้ จากเดิมต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น 80-90% ล่วงหน้าเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น ไม่เพียงพอกับการผลิตในระยะยาว หากยังติดต่อไม่ได้ภายใน 1-2 วันนี้ บริษัทก็ต้องตัดสินใจหยุดสายการผลิตชิ้นส่วนออกไปก่อน 1 สายการผลิต ซึ่งใช้คนงาน 40-50 คน ปลายสัปดาห์นี้น่าจะสรุปได้ว่ามูลค่าความเสียหายมีมากน้อยเพียงใด

ด้านนายสุรสีห์ แห่งศรีสุวรรณ

ผู้ อำนวยการโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร (นครราชสีมา) เปิดเผยว่า บริษัทต่าง ๆ ยังคงมีสต๊อกสินค้าเก่าไว้พอใน 1-2 เดือนข้างหน้า และคาดว่าจะไม่มีผลกระทบกับออร์เดอร์ อาจจะส่งผลในระยะสั้น

หวั่นราคาชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนพุ่ง

สำนัก ข่าวต่างประเทศรายงานว่า ญี่ปุ่นเป็นแหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์สัดส่วน 20% ของกำลังการผลิตทั่วโลก, 15% ของการผลิต DRAM ทั่วโลก และกว่า 40% ของชิปเมโมรี่ที่ใช้งานบนแท็บเลต สมาร์ทโฟน กล้อง และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ล้วนผลิตจากโรงงานในญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตหน้าจอดิสเพลย์ที่ใช้บนสมาร์ทโฟน แท็บเลต ที่สำคัญของโลก คาดว่าจะทำให้โรงงานเผชิญกับปัญหาซัพพลายสินค้าลดลงอย่างรวดเร็ว และยังทำให้ราคาเมโมรี่ชิปสูงขึ้น เนื่องจากความกังวลว่าสินค้าจะขาดตลาดและความไม่แน่นอนของระบบซัพพลายเชน

โดย เฉพาะโตชิบาเป็นหนึ่งในผู้ผลิต NAND แฟลชเมโมรี่ชิปรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นผู้ป้อนชิ้นส่วนให้กับสินค้าของแอปเปิล เช่น ไอโฟน ไอแพด และแท็บเลตอื่น ๆ โดยบริษัทวิจัย iSuppli ประเมินว่าบริษัทแม่ในญี่ปุ่นของบริษัทต่าง ๆ สร้างรายได้จากไมโครชิปมูลค่า 63.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐปี 2010 คิดเป็นสัดส่วน 20.8% ของตลาดรวมทั่วโลก

ขณะ ที่รายงานของ DRAMeX Change ตลาดค้าชิปรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย เมื่อต้นสัปดาห์หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว พบว่าราคาเฉลี่ยของ DRAM ชิปที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 5.5-6.8% ส่วน NAND แฟลชเมโมรี่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการบันทึกข้อมูล เพลง ภาพในสมาร์ทโฟน เครื่องเล่น MP3 และกล้องดิจิทัล พบว่ามีราคาสูงขึ้น 12.5%

ชี้ชิ้นส่วนไอทีย้ายฐานไปจีน

อย่าง ไรก็ตาม นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานบริษัท ซินเน็ค ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) มองว่าผลกระทบไม่น่าจะเกิดขึ้นมากนัก เนื่องจากสินค้าไอทีและชิ้นส่วนต่าง ๆ ส่วนใหญ่ปัจจุบันย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่ประเทศจีนกว่า 80% โดยสินค้าที่ซินเน็คเป็นตัวแทนจำหน่าย โดยเฉพาะแฟลชเมโมรี่ พบว่าสินค้าผลิตในจีนเกือบทั้งหมดจึงไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในญี่ปุ่น ขณะที่สินค้าซึ่งผลิตในญี่ปุ่น และซินเน็คเป็นตัวแทนจำหน่ายนั้นมีเพียงจอมอนิเตอร์แบรนด์ไอโซเพียงอย่าง เดียว เน้นเจาะตลาดไฮเอนด์ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับรายงานผลกระทบ และยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับการปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด

ค่ายรถยนต์ยอดผลิต มี.ค.ฮวบ

อุตสาหกรรมที่ถูกผลกระทบสึนามิฟาดเข้าใส่หนักสุด น่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ประกาศหยุดการผลิตลงทันที

สำนัก ข่าวต่างประเทศรายงานว่า โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราว 12 โรงงานทั่วประเทศ เป็นเวลา 3 วัน (14-16 มีนาคม) เพื่อความปลอดภัยของพนักงานและครอบครัว ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์อื่น อาทิ นิสสัน, มาสด้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ, อีซูซุ, ไดฮัทสุ, ฮีโน่, ซูซูกิ และนิสสันยูดี ก็ระงับการผลิตชั่วคราวเช่นกัน

ส่วนด้านความเสียหายยังไม่สามารถระบุได้ แต่การหยุดผลิตทั่วประเทศครั้งนี้น่าจะทำโตโยต้าเสียตลาดประมาณ 40,000 คัน

ผู้ สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า โรงงานผลิตรถยนต์ของค่ายโตโยต้าในประเทศไทย ได้ประกาศเลิกทำโอที (ทำงานล่วงเวลา) เป็นเวลา 5 วัน เนื่องมาจากมีวัตถุดิบและชิ้นส่วนประกอบรถยนต์บางรายการที่ต้องซัพพลายจาก ต่างประเทศ อาจจะล่าช้า ส่วนระยะยาวนั้นคงต้องมีการหารือกันอีกครั้ง

ผู้ สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจพบว่าผลกระทบที่เกิดจากการขาดแคลนชิ้นส่วนนั้นไม่มากนัก เพราะใช้จากผู้ผลิตในประเทศมากกว่า จะมีการนำเข้า (ซีเคดี) บ้างก็เล็กน้อย คาดว่าในสัปดาห์หน้าคงได้ข้อสรุปชัดเจน โดยเฉพาะผลกระทบต่อยอดการผลิตรถยนต์โดยรวมในเดือนมีนาคมนี้ จะทำให้ยอดการผลิตน้อยกว่าประมาณการ โดยเฉพาะช่วงครึ่งเดือนหลัง ซึ่งจะมีผลโยงไปถึงการส่งมอบรถให้กับลูกค้า

"เจโทร" ไม่เปลี่ยนแผน

นาย มูเนโนริ ยามาดะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า การขยายตัวของบริษัทญี่ปุ่นมายังเอเชียจะไม่เปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาบริษัทญี่ปุ่นได้จัดสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ โดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง ซึ่งความสำคัญที่มีให้ไทยในฐานะฐานการผลิตและส่งออกจะไม่เปลี่ยนแปลงหรือ สั่นคลอนอย่างแน่นอน ส่วนระยะสั้นคงได้รับผลกระทบในเรื่องนำเข้าชิ้นส่วน หรือวัตถุดิบจากญี่ปุ่น หรือที่ต้องนำเข้าจากไทยเช่นกัน

ด้านแหล่ง ข่าวจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) กล่าวว่า การปล่อยวงเงินกู้ในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่มีปัญหา รวมถึงโครงการใหม่ที่มีแผนจะปล่อยกู้ในอนาคตด้วย

หุ้นร่วงต่ำกว่า 1,000 จุด

นับ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นลงผันผวนต่อเนื่อง ซึ่งดัชนีปรับตัวลงแรงทันทีที่เปิดตลาดรอบบ่ายวันที่ 11 มี.ค. และปิดที่ระดับ 1,007.06 จุด ลดลง 12.16 จุด แต่ในต้นสัปดาห์มีแรงซื้อ

เก็ง กำไรหุ้นกลุ่มพลังงานเป็นการซื้อดักหน้าข่าวญี่ปุ่นปิดโรงกลั่น หนุนราคามีแนวโน้มปรับขึ้น ดันดัชนีปิดที่ 1,022.87 จุด เพิ่มขึ้น 15.83 จุด (14 มี.ค.) แต่เมื่อเกิดข่าวลบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของญี่ปุ่นระเบิด ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกลงแรงอีกระลอก โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงหลุดแนวต้านใหญ่ 1,000 จุด มาต่ำสุดที่ 996.44 จุด ปิดตลาดที่ 1,003.10 จุด ลดลง 19.79 จุด หรือ -1.93% มูลค่าการซื้อขาย 37,651 ล้านบาท ขณะที่วันที่ 11 และ 14 มี.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 3,582 ล้านบาท

BOI หนุนย้ายฐานมาไทย

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการดำเนินงานประสานงานและจะเชิญบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทยมาหารือ แนวทางช่วยเหลือผู้ที่มีบริษัทแม่ได้รับความเสียหายจาก

สึนามิจะ กระทบมาถึงการผลิตในไทยมากน้อยเพียงใด ทางบีโอไอพร้อมสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร อุปกรณ์ และชิ้นส่วนที่บริษัทแม่หลายรายมีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่

ดังกล่าว พร้อมมีแนวคิดจะจัดตั้งทีมงานขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่โครงการลงทุนจาก ญี่ปุ่น ที่อาจย้ายฐานการผลิตหรือเข้ามาขยายการลงทุนในไทย


วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554 ประชาชาติธุรกิจ

Sponsor