15 November 2010

อย่าฝืนโลก

อย่าฝืนโลก

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สมปรารถนา คล้ายวิเชียนร
วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4262 ประชาชาติธุรกิจ



ได้มีโอกาสรับฟังข้อมูลจากผู้รู้ในแวดวงธุรกิจการเงินและเศรษฐกิจมหภาคที่ มอง-วิเคราะห์เชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจโลก เกี่ยวกับมาตรการอัดฉีดเศรษฐกิจระลอกล่าสุดของสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจผู้กุมชะตากรรมเศรษฐกิจโลกเอาไว้ในมือ

ช่วยให้เกิดความเข้า ใจและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ หลาย ๆ เรื่องได้ดียิ่งขึ้นพอสมควร อันเนื่องมาจากทักษะในการถ่ายทอดของผู้บรรยายที่อธิบายความและเปรียบเทียบ ให้ ผู้ฟังที่มีพื้นฐานความรู้เศรษฐกิจไม่แข็งแรงอย่างผู้เขียนมองปรากฏการณ์ได้ กระจ่างมากยิ่งขึ้น

ก่อนจะสรุปตามความเข้าใจเอาเองแบบบ้าน ๆ ว่า ทั้งหมดทั้งปวงนั้นก็เป็นเพราะเราต่างอยู่ในโลกเศรษฐกิจการค้าที่เชื่อมโยง เกาะเกี่ยวกัน โดยมีพี่ใหญ่อย่างสหรัฐ ต้นตำรับของระบบทุนนิยมเสรีเป็นผู้กำหนดทิศทาง พร้อมกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ที่ว่า สหรัฐและระบบเศรษฐกิจของเขา "ล้มไม่ได้" ปล่อยให้ถดถอย ดิ่งซึมต่อไปจะส่งผลกระทบต่อทั้งโลก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องชอบธรรมแล้วที่จะเพิ่มมาตรการอัดฉีด ถมเงินเข้าไปตามแต่จะเห็นสมควร

อย่าได้แคร์ว่านี่คือกติกาแบบปลาใหญ่ กินปลาเล็ก ไม่ต้องกังวลหรอกว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงอีกกี่ เปอร์เซ็นต์ ในทางตรงข้ามค่าเงินหยวน, เยน, บาท, รูปี จะแข็งขึ้นเท่าไรก็ย่อมเป็นไปตามกลไกตลาดปกติที่ฝ่ายหนึ่งอ่อน อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องแข็งโดยปริยายนั่นเอง

แล้วหากเงินที่เพิ่มขึ้นจะ ไหลบ่าท่วมล้นระบายมายังฟากตะวันออกที่อัตราตอบแทนในการลงทุนของประเทศที่ GDP สวยหรูในระดับ 7-9% อย่างจีน สิงคโปร์ อินเดีย ไทย ฯลฯ ก็เป็นเรื่องที่ต้องตั้งรับ บริหารจัดการกันไปตามสภาพ

นี่คือความ จริงที่อาจดูไม่ค่อยดี หรือมีความเป็นธรรมเท่าใดนัก (และแม้จะเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงจิกกัดกันเต็มที่ในการประชุม G-20 ก็จะไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่อย่างใด) แต่ก็เป็นความจริงแท้ที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับโลกแห่งการแข่งขัน ของทุนนิยมบนข้อได้เปรียบของ ผู้แข็งแกร่งกว่า

รู้แจ้งประจักษ์ในเหตุแห่งปัญหาดังกล่าวแล้ว ข้อแนะนำโดยผู้รู้จึงตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานที่ว่า "อย่าไปฝืนโลก"

เพราะฝืนอย่างไรก็ยากที่จะเอาชนะ "ระบบ" ที่กดครอบจนแม้กระทั่ง "ยักษ์ใหม่" อย่างจีนยังฝืนต้านได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น

แทน ที่จะมัวมานั่งกังวลว่า จะเอาชนะ "ระบบ" อย่างไร จะสร้างทำนบ สร้างเขื่อนกั้นการไหลบ่าของ "ทุนต่างประเทศ" แบบไหน อาจต้องกลับมาคิดใหม่ว่า แล้วจะอยู่อย่างไรกับกระแสหรือสถานการณ์ที่ "ฝืนไม่ได้" มากกว่า

มองภาพใหญ่ดังที่ผู้รู้วาดให้ดูแล้ว ก็เตรียมใจได้ว่า ประเทศไทยต้องกลับมาเตรียมตัวให้พร้อมที่จะอยู่กับยุคสมัย "บาทแข็ง" ต่อไปอีกนานพอสมควร

ประเด็นจึงกลับมาอยู่ตรงที่ว่า จะอยู่อย่างไรมากกว่า

ปฏิเสธ ไม่ได้ว่าจะเป็นยุค "บาทอ่อน" (เหมือนเมื่อครั้งหลังปี 2540) หรือยุค "บาทแข็ง" ที่กำลังเผชิญอยู่นี้ต้องมีคนที่เจ็บปวด เสียประโยชน์ หรืออาจถึงขั้นล้มหายตายจาก

แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด จำนวนหนึ่งได้อานิสงส์ อีกไม่น้อยสามารถปรับตัว ประคองตัว หรือสร้าง "วิกฤตเป็นโอกาส" ได้ด้วยเหมือนกัน

โจทย์ คือจะทำอะไรให้เกิดประโยชน์ได้บ้างจากยุคค่าบาทแข็งที่ไม่ใช่แค่มองเห็นเป็น โอกาสในการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากอเมริกา-ยุโรปที่ราคาถูกลง หรือเป็นจังหวะดีในการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศให้บ่อยขึ้น ช็อปปิ้งจากนิวยอร์กจดปารีสได้อย่างเมามันมากขึ้น

การไม่ฝืนโลกคือ ความพยายามที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงค้นหาวิธีอยู่ร่วมกับภาวะนั้น ๆ อย่างยั่งยืนให้มากที่สุด หรือแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ได้ในระยะยาว มิใช่เพียงผลพลอยได้ในระยะเฉพาะหน้า

นั่น คือฉากหนึ่งของโลกเศรษฐกิจระบอบโลกาภิวัตน์ ที่เมื่อกระโจนเข้าร่วมกระแสไปด้วยแล้ว ก็ต้องประคองตัวให้รอดไม่ว่ากระแสจะไหลเชี่ยวขนาดไหนก็ตาม

ส่วนอีกโลกที่ชอบกล่าวอ้างถึงโลกประชาธิปไตย ซึ่งยังมีอีกไม่มากประเทศนักยังฝืนกระแสอยู่นั้น

ดูเหมือนเมืองไทยจะสามารถไหลตามและฝืนกระแสได้อย่างแนบเนียนมานานแล้ว...

Sponsor